วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

เราหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า?

(เรื่องราวเหล่านี้ ผมนำกลับมาเล่าอีกครั้ง โดย อ.ณรงค์วิทย์ มาจุดประกายด้วยคำถามหนึ่งใน FACEBOOK ผมเขียนเรื่องราวเล็กๆนี้ไว้ เมื่อ ๑๑ ก.พ. ๕๒ ถึงการเดินทางมาใช้ชีวิตที่เมืองหลวง....)




ราหลงลืมอะไรหรือเปล่า ...?

 
ผมทบทวนตัวเองในระหว่างที่เดินผ่านผู้คน ท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองหลวง ไม่รู้ว่ามีใครรู้สึกเหมือนผมบ้าง เมื่อเดินทางอยู่ที่ “อนุสาวรีย์ชัยฯ” กลางเมืองหลวง...กับสายตาที่มองเห็น ที่นี่เราเห็นภาพมุมกว้าง เราเห็นความหลากหลายของผู้คน เราสัมผัสถึงอัตราเร่งของคนเหล่านั้นที่ตั้งหน้าตั้งตาเดินไปข้างหน้า อย่างรีบเร่ง และผมเองเป็นหนึ่งในจำนวน "คนรีบเร่ง"  พร้อมกับสายลม และหมอกควันพิษปะทะใบหน้า เช่นเดียวกับทุกคนในที่นั้น
ผมไม่เคยเดินเร็วขนาดนี้เมื่ออยู่บ้านนอก แต่มาอยู่ในเมืองหลวง วิถีที่นี่ก็สอนให้ผมต้องก้าวเท้าด้วยอัตราเร็วกว่าเดิมสองเท่า

เขาเดินทางกันไปไหน ทำไมรีบเร่งเหลือเกิน?
นั่นสิครับ!!!   ผมก็ถามตัวเองอยู่เหมือนกันว่า เหนื่อยมากไหมกับการที่จ้ำอ้าวขนาดนั้น... เราให้ความสนใจสิ่งที่อยู่บ้างหน้า พยายามต้านทานแรงเสียดทานของเวลาให้มากที่สุด ไม่เคยเลยที่จะหยุดมองรายทาง..เราหลงลืมและเพิกเฉยรายละเอียดบางอย่างไปรอบ ตัวเราไปอย่างน่าเสียดาย

เวลาที่มีอยู่เท่าเดิม...แต่ทำไมรู้สึกว่าเวลาน้อยลง
หนังสือ ที่ห้องพักผม เพิ่มปริมาณขึ้นทุกวัน ช่วงหลังผมไม่เคยอ่านหนังสือจบเล่มแม้แต่เล่มเดียว ...แต่ก็เพียรซื้อหนังสือมาเรื่อยๆ สะสมไว้ ให้สัญญากับกับเองว่า “ไว้มีเวลา” แล้วค่อยอ่าน แต่จนแล้วจนรอดก็หาเวลากลับมาอ่านให้จบไม่ได้ ... หลายเล่มอ่านแล้วแต่ค้างเติ่ง รอสรุปรวบยอด หลายเล่มปกยังใหม่ไม่ได้สัมผัส แม้แต่เนื้อใน
น่าเสียดาย...ตั้งคำถามหลายครั้งกับตนเองว่า เวลาเราหายไปไหนหมด?
สาระ สมองที่เราเคยละเลียดอ่าน จากหนังสือเล่มโปรด อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนคราที่อยู่บ้านนอก ...กลับไม่มีบรรยากาศแบบนั้นให้เห็นอีกแล้ว

เรามีเวลา คุยกันบ้างไหม?
ผมเปิดประตูห้างเข้าไปรับความฉ่ำเย็นของเครื่องปรับอากาศในเมืองหลวง  ...แอบอ่านหนังสือฟรีอยู่ในร้านหนังสือชื่อดัง ผมให้เหตุผลว่า “ฆ่าเวลา”  
ที่ นี่บรรยากาศเงียบงัน ทุกคนต้องจดจ่อกับหนังสือที่อยู่ในมือ ซอกหลืบระหว่างชั้นวางหนังสือ หลายคนนั่งเอกเขนก อ่านหนังสือในมืออย่างเอาจริงเอาจัง ...เงียบงัน
ผมนัดกับเพื่อนที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง
หลัง จากใช้เวลากับร้านหนังสือ เราทักทายกันตามประสาเพื่อน ก่อนที่จะนั่งลงคนละมุมโต๊ะเล็กๆ และต่างคน ต่างก็กางโน้ตบุ้คส่วนตัวพร้อมเข้าไปใช้ชีวิตออนไลน์ green wifi  ดีด MSN คุยกับเพื่อนตรงหน้า เพียงแค่ ๑ ฟุต
เขียนคำทักทายหยอกล้อเพื่อนไปว่า “นายอยู่ไหน?”
 เขาตอบมาทันที โดยใช้ไอคอนแสดงอารมณ์ ตอบโต้...  
เรามักทักทายกันเสมอเมื่ออยู่ต่างสถานที่กัน แต่ วันนี้เราอยู่ใกล้กันแค่เอื้อมถึง
“นี่เราจะคุยกันแบบนี้กันเหรอ” ...ผมหัวเราะ - - - เขาก็หัวเราะ  แต่ละคนพลางปิดโน้ตบุ้คเก็บเข้ากระเป๋า ก่อนนั่งสนทนากัน
วันนี้เราคุยกันในวิถีประจำวันน้อยลง...และเราใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น

เรากำลังถูกวิถีสมัยใหม่กลืนกิน ความงดงามของวิถีสังคมเดิม ไปทุกวัน  ความเร่งรีบ ความเงียบงัน และความเฉยชาเข้ามาแทนที่...ชีวิตทางสังคมเราถูกกร่อนไปอย่างน่าเสียดาย
* เราหลงลืมอะไรหรือเปล่า?
* เวลามีอยู่เท่าเดิม ...แต่ทำไมรู้สึกว่าเวลาน้อยลง
* เรามีเวลาคุยกันบ้างไหม?

ชีวิตที่เร่งรีบ จนลืมฟังเสียงหัวใจตนเอง..
ถามตัวเองว่ามีความสุขหรือเปล่า?? กับ "การเป็นอยู่"  ของวันนี้
"...สุดท้าย เราต้องรู้ให้ได้ว่าเราทำอะไร...เพื่ออะไร..จุดมุ่งหมายเราคืออะไร...แล้ว คอยเช็คเข็มทิศหัวใจอยู่ตลอดเวลา ว่าเรากำลังทำในสิ่งที่หัวใจเราบอกหรือเปล่า..ไม่กลับไปเลือกในสิ่งที่คน อื่นอยากให้เราทำ เพราะสุดท้ายก็ไม่เจอความสุขที่เราต้องการ... " (เข็มทิศหัวใจ,ศิริรัตน์ ณ พัทลุง ต.สุวรรณ)


ขากลับบ้าน ...รถรับจ้าง พาขึ้นทางด่วนเพื่อประหยัดเวลา 
รถ รับจ้าง...อัตราเร่งสูง และบรรยากาศสำหรับคนแปลกหน้าทั้งหลายในรถรับจ้างก็เงียบงันเหมือนเดิม หลายคนเลือกที่จะหนีความเงียบที่อึดอัดนั้น ยัดเยียดความเป็นส่วนตัวผ่านหูฟังเครื่องเล่นเพลงชิ้นจิ๋ว และพร้อมที่ก้าวไปสู่โลกส่วนตัวในทันที
ข้างหน้า...มีแสงไฟกระพริบ พราว...  เป็นสัญญาณแสดงถึง “อุบัติเหตุบนทางด่วน...”
ผมไม่อยากจินตนาการเลยว่า อัตราเร็วเกินกว่าปกติของการวิ่งรถบนทางด่วน หากเกิดอุบัติเหตุแล้วนั้น จะรุนแรงเพียงใด?

ไม่ต่างอะไรกับชีวิตด่วนๆของเรา คราพลาดพลั้งไป ก็บาดเจ็บรุนแรง





จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
นนทบุรี
๑๑ ก.พ.๕๒

วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ส่งความสุข สู่คุณภาพการศึกษา 2013

ส่งความสุข สู่คุณภาพการศึกษา


พื้นฐานของการพัฒนาคน พัฒนาสังคม ในศตวรรษใหม่ที่จะมาถึง คือ 21st Century นักพัฒนาจำเป็นต้องเข้าใจเงื่อนไข เเละการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แบบที่เราไม่สามารถคาดการณ์เเนวโน้มได้เลย ทั้งนี้เพราะศตวรรษที่ ๒๑ การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ดังนั้นการก้าวไปในโลกใบใหม่...จำเป็นต้องเรียนรู้ เเละเข้าใจ ระบบการศึกษาที่เป็นพื้นฐานของเรา เเละความพยายามในการสร้าทักษะ (Skills) ให้กับเยาวชนเเละคนในประเทศของเรา ได้มีทักษะที่พร้อมกับโลกใบใหม่

ในวงการโค้ช ผมมองว่า สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความพยายามของกลุ่มโค้ชที่ พยายามหารูปแบบการโค้ชชิ่งแบบไทย ในชื่อ กลุ่มไทยโค้ช ผมมองว่าพื้นฐานสำคัญคือเข้าใจระบบการศึกษาที่เรามีอยู่อย่างถ่องเเท้ จะนำไปสู่การออกแบบการโค้ชชิ่งที่สอดคล้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นโค้ชไทยแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างงดงามเเละภาคภูมิ

ผมขอเเนะนำหนังสือล่าสุดที่เป็นหนังสือที่ใช้เป็น หนังสือ “สคส. สคศ.”
(ส่งความสุข สู่คุณภาพการศึกษา)  หรือหนังสือ “ครูเพื่อศิษย์” เล่ม ๔ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
สามารถ DOWNLOAD ได้จากที่นี่

THAI_ED.pdf  (คลิกที่ File สำหรับ DOWNLOAD)




เเล้วมีโอกาสเราจะได้นั่งพูดคุยเเลกเปลี่ยนกันครับ


ขอบคุณครับ


จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร(เอก)

081 - 8832138

vjatuporn@gmail.com


วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

เหลียวหลัง แลหน้า การดำเนินการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายครูสอนดี(ยะลา,ขอนแก่น,กำแพงเพชร)

“สรุปบทเรียน” การดำเนินการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายครูสอนดี(ยะลา,ขอนแก่น,กำแพงเพชร)

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูรและทีมงาน

สมมุติฐานในการทำงานของทีมงาน

เราเชื่อว่า “ครู” เป็นผู้มีความสามารถ มีทักษะ เทคนิค ตลอดจนประสบการณ์ผ่านการสอนมายาวนาน (แตกต่างกันแต่ละคน) และครูเองทราบดีว่า สถานการณ์การจัดการศึกษาในขณะนี้เป็นอย่างไร? และครูเองควรปฏิบัติเช่นไร เพื่อที่จะสร้างหรือพัฒนากระบวนการเรียน การสอน เพื่อนำพา เด็กนักเรียนที่เป็น “ศิษย์” ของตนเอง ไปถึงฝั่งได้อย่างปลอดภัยและประสบความสำเร็จในการชีวิตการงาน
ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบของการศึกษา รวมถึง ระบบของสายวิชาชีพครู “ใครไม่เป็นครูก็คงไม่เข้าใจลึกซึ้ง” หลายเหตุผล ครูก็ไม่รู้จะอธิบายให้ใครฟัง และก็ไม่รู้ว่าเวลาอธิบายแล้วคนอื่น(ที่ไม่ใช่ครู) จะเข้าใจพวกเขาไหม?
วัฒนธรรม ความเชื่อ นโยบายรายวัน ระบบการเมือง ระบบการประเมินที่ท้าทายศักดิ์ศรีของความเป็นครู ตลอดจน อำนาจของผู้บริหารในแต่ละระดับ ที่เป็นปัจจัยกำหนดก้าวย่างของครู จนครูแทบไม่เป็นตัวของตัวเอง หาพื้นที่สำหรับการนำเสนอตัวตนแทบไม่มี

ความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่ของสังคม ที่เน้นผลผลิตทางการศึกษาที่ครูเป็นจำเลยตลอดกาลนั่นอีก ที่คอยตอกย้ำ ความรับผิดชอบของครู อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  จะมีใครสักคนเข้าใจบ้างไหมว่า ทุกอย่างเชื่อมโยงกันไปหมด บทบาทภาระหน้าที่ครูเพียงฝ่ายเดียว อาจต้านกระแสเหล่านั้นไม่ไหว ต้องช่วยกัน ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สังคม และโรงเรียน แต่ละส่วนมีหน้าที่ที่เอื้อหนุนกัน “การสอนคน” เป็นภาระที่หนักอึ้ง ไม่ง่ายนักที่จะนำพาศิษย์สักคนไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จ เป็นคนดี คนเก่งของสังคม
“ครูเหนื่อย – อะไรๆก็ครู” แต่เสียงบอกเล่าให้กับสังคมเป็นเพียงเสียงเบาๆ ที่หลายคนไม่ได้ยิน หรือ ใส่ใจที่จะฟัง

เราทีมงานคิดกันว่า
การพัฒนาศักยภาพครู ตามโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายครูสอนดี ในจังหวัดที่รับผิดชอบ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดยะลา และ กำแพงเพชร  เราจะใช้รูปแบบของ การสร้างพลังแรงบันดาลใจ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ก่อนที่จะชวนครูมาเรียนรู้ร่วมกัน ตามประเด็นของ 21st Century Skills  ซึ่งมองว่า ครูได้ทำอยู่แล้ว แต่มาดูว่า เราต้องทำเพิ่ม ปรับเปลี่ยนบางอย่าง ขยับตรงนี้นิด เพิ่มตรงนั้นหน่อย มองเป้าหมายคือ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไปด้วยกัน  อาจใช้เครื่องมือ ที่แนะนำเช่น PBL สำหรับเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อไปถึงเป้าหมาย และ การสร้าง PLC ในแต่ละระดับเพื่อเกื้อหนุนให้เกิด PLC ที่เข้มแข็งต่อไป

ทีมงานของเรา

ทีมงานประกอบด้วย ผมทำหน้าที่เป็นวิทยากรหลักในการออกพื้นที่ สร้างกระบวนการเรียนรู้ และมีทีมงานที่มีพลังความสามารถดังนี้
                 
อ.พฤหัส พหลกุลบุตร และ อ.วีระพงษ์ ทวีศักดิ์

  1. อ.วีระพงศ์ ทวีศักดิ์ (อ.วี) นักดนตรีพิณแก้ว  อาจารย์เน้นเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจและปรับทัศนคติ โดยมีเครื่องดนตรีเป็นเครื่องมือ ทางสุนทรียะในเวทีเรียนรู้
  2. อ.พฤหัส พหลกุลบุตร (อ.ก๋วย)  เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือ กลุ่มมะขามป้อม  โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยผ่านละคร ดังนั้น อ.พฤหัส จะมีชุดความรู้ชุดหนึ่งผ่านการทำงาน มาช่วยกันในส่วนของการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละเวที และมีการพัฒนาเครือข่ายครูสอนดีซ้อนลงใน 2 จังหวัด(ขอนแก่น,ยะลา) เป็นเป้าหมายตามโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ทีมงานของเรา จึงประกอบไปด้วย ความหลากหลายของนักพัฒนาที่มาช่วยกันคิดงาน ภายใต้สมมุติฐานที่เราตั้งไว้ เมื่อมีความคิดร่วมกันตรงนี้ เราจึงเดินต่อด้วย “วิธีการของเรา” และเราก็เชื่อมั่นว่า วิธีการแบบนี้น่าจะส่งผลต่อการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีพลัง และใช้ “การจัดการความรู้” เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ที่เป็นระบบ มีการสร้างและพัฒนา Facilitator ที่เตรียมไว้สำหรับวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน PLC ที่จะเกิดขึ้น (เรามีการใช้หนังสือ the art of facilitator เป็นคู่มือในการพัฒาทักษะการเอื้ออำนวยกระบวนการเรียนรู้) กับเป้าหมายครูสอนดีใน 3 จังหวัดดังกล่าว เพื่อใช้ในการเป็นทักษะการสร้างความรู้ให้กับนักเรียน และถอดบทเรียนกระบวนการเรียนการสอนตามโจทย์ของโครงการฯ เพื่อเป็น Best Practice ให้กับเครือข่ายครูสอนดี
 

จุดแข็งที่เราค้นพบ ในจังหวัดที่รับผิดชอบ (กำแพงเพชร,ขอนแก่น,ยะลา) เราพบว่า

จังหวัดขอนแก่น,ยะลา,กำแพงเพชร  มีจุดแข็งดังนี้
  1. ทั้งสามจังหวัด พื้นฐานกระบวนการคัดเลือกครูสอนดีที่มีคุณภาพเราจึงได้ “ครูสอนดี” ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ และมี Tacit Knowledge ผ่านประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนที่เข้มข้น ในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นส่วนใหญ่เป็นครูที่ได้ถูกสร้างกระบวนการเรียนรู้มาจากโครงการ LLEN และได้รับการคัดเลือกมาเป็น “ครูสอนดี”
  2. มีการคัดเลือกแกนนำ เพื่อที่จะเป็น “ทีมแกนนำหลัก” ที่มีคุณภาพ ทำให้ได้แกนนำในการช่วยกันขับเคลื่อนเครือข่ายครูสอนดีในระดับจังหวัดได้เป็นอย่างดี สังเกตจากการปฏิบัติหน้าที่ในเวทีทดลอง และเวทีที่สองของจังหวัดที่ได้จัดแล้ว
  3. ที่ยะลา สถานการณ์วิกฤติของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เป็น “โอกาส”ที่ครูได้ใช้จิตวิญญาณของความเป็นครูในการสร้างการเรียนรู้และเยียวยานักเรียนไปด้วย
  4. ผู้ประสานงาน หรือ ผู้จัดการในระดับพื้นที่ เป็นผู้ที่เป็น “ต้นแบบ” รวมถึงมีสถานะทางการงานที่ส่งผลต่อความสำเร็จของงาน และทำบทบาทการเชื่อมคน เชื่อมใจได้เป็นอย่างดี บทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การเชื่อมการเมืองกับการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เป็นอย่างดี ผู้จัดการพื้นที่ของยะลาและขอนแก่นเป็นผู้อำนวยการส่วนการศึกษาของเทศบาลนคร และกำแพงเพชรเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เป็นครูของครูอีกชั้นหนึ่ง
  5. ทีมงานดำเนินการของจังหวัดยะลา และ ขอนแก่นซึ่งเป็น พนักงานของเทศบาลนครยะลาและข่อนแก่นมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเป็นเจ้าภาพร่วมกันทำให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กระบวนการหลักๆใน 3 จังหวัด ออกแบบมีคล้ายคลึงกัน ดังนี้

1. การพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายครูสอนดี
  • การสร้างแรงบันดาลใจและทัศนคติเชิงบวก (ยกเว้นที่กำแพงเพชรไม่มี session นี้)
  • การพัฒนาทักษะการเป็น Facilitator และ การจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • เรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21  เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง ผ่านเครื่องมือ PBL,PLC
  • การทดลองจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ถอดบทเรียน เพื่อหา Best practice ในเครือข่ายครูสอนดี
2. ในเวทีที่สอง การถอดบทเรียน (lesson Learned) เพื่อค้นหา Best practice และสรุปบทเรียนการทำ PLC ในโรงเรียนตามโจทย์ที่คุยกันในเวทีที่ 1 ซึ่งตอนนี้มีเพียงจังหวัดเดียวที่ดำเนินการไปแล้ว คือ จ.ยะลา

หารือกับภาคการเมือง ประเด็นการพัฒนาเครือข่ายครูสอนดี ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา 
นายกเทศมนตรีนครยะลา เเละ อธิการบดี มรภ.ยะลา

ผลการดำเนินงาน


ในจังหวัดยะลา
มีการดำเนินงานพัฒนาศักภาพเครือข่ายครูสอนดี 2 เวที
  1. เวทีที่ 1 เวที พัฒนาศักยภาพครูสอนดี (แกนนำ และทดลองทำกลุ่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้)
  2. เวทีที่ 2 เติมเต็มทักษะ 21st Century Skills โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และทำเวทีการถอดบทเรียน (Lesson learned) ของเครือข่ายครูสอนดีที่ถูกตัดเลือกมาประมาณร้อยละ 50  
จังหวัดขอนแก่น มีการดำเนินงานพัฒนาศักภาพเครือข่ายครูสอนดี 2 เวที
  1. เวทีที่ 1 เวที พัฒนาศักยภาพครูสอนดี (แกนนำ และทดลองทำกลุ่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้) และมอบโจทย์ในพื้นที่
  2. เวทีเฉพาะกิจ ที่รวมเอาครูเทศบาลทั้งหมด 700 คน มาเรียนรู้และวางหมุดหมายร่วมกัน เกี่ยวกับ 21st Century Skills อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมที่ "คักอีหลี เมืองขอนแก่น"
จังหวัดกำแพงเพชร มีการดำเนินงานพัฒนาศักภาพเครือข่ายครูสอนดี 1 เวที
  1. เวทีที่ 1 เวที พัฒนาศักยภาพครูสอนดี (แกนนำ และทดลองทำกลุ่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้)

การจัดการความรู้และการประสานงานเครือข่ายการทำงานในกลุ่มวิทยากรและผู้จัดการระดับจังหวัด

ปรึกษาหารือ ผ่านโทรศัพท์ และ มีกลุ่มเรียนรู้ออนไลน์ใน Facebook ที่เป็นกลุ่มเฉพาะ

จังหวัดยะลา

มีกลุ่ม ครู facilitator ยะลา ใน facebook ซึ่งเป็นกลุ่มการเรียนรู้เฉพาะ  มีสมาชิกกลุ่ม 12 คน (แกนนำ)
URL : http://www.facebook.com/groups/425735167457528/

จังหวัดขอนแก่น

มีกลุ่ม ครูสอนดี นครขอนแก่น  ใน Facebook ซึ่งเป็นกลุ่มเรียนรู้เฉพาะ มีสมาชิก 313 คน
URL: http://www.facebook.com/groups/436178433094126/

จังหวัดกำแพงเพชร

ยังไม่มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ออนไลน์ แต่มีเวทีประชุมบ่อยครั้งจัดโดย มรภ.กำแพงเพชร

บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำงานของทีมงาน

  1. การเริ่มต้นเวทีเรียนรู้ อาจมีการ SWOT Analysis แบบง่าย เกี่ยวกับสถานการณ์การจัดการศึกษาในพื้นที่ก่อน และ ใช้เป็นต้นทุนในการเชื่อมโยงเรื่องอื่นๆต่อไป
  2. การเรียนรู้ประเด็น 21st Century Skills ที่ง่ายและได้ผลคือ เชื่อมโยงกับสิ่งที่ครูทำอยู่แล้ว และ ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
  3. การเปิดเวทีเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ เช่น การเรียนรู้แบบกลุ่มออนไลน์ จะช่วยให้ติดตามการเติบโต และพัฒนาการการทำงานของเครือข่ายได้อย่างใกล้ชิด
  4. การสร้างแรงบันดาลใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติส่งผลต่อบรรยากาศการจัดเวทีพัฒนาศักยภาพโดยตรง ทำให้เกิดพลังในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเปิดใจกันมากขึ้น รมไปถึง การสร้างบรรยากาศความสุขในการทำงาน
  5. การวางบทบาทที่สอดคล้องประสานของ ทีมงานวิทยากร เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง วิทยากรเองก็ต้องใช้ทักษะ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็น “ต้นแบบ” ของการเรียน การสอน แบบใหม่ รวมไปถึงการใช้ KM ในการดำเนินการของทีมงาน เช่นการ BAR และ AAR กันทุกครั้งเมื่อเริ่มต้นทำงาน และทำงานเสร็จ
  6. การบันทึกบทเรียนเพื่อ สะท้อนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน ผ่านบันทึกออนไลน์ เป็นการยืนยันประสบการณ์และเกิดการต่อยอดได้ดี ยกตัวอย่าง บันทึกของวิทยากร และ การโพสข้อความในกลุ่มเรียนรู้ใน Facebook
  7. การเชื่อมต่อเครือข่ายเดิม และ พัฒนาเครือข่ายครูที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ให้เข้มแข็งต่อเนื่อง

ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนการทำงานใน 3 จังหวัด (กำแพงเพชร,ยะลาและขอนแก่น)

  1. มุ่งเน้นการใช้ การจัดการความรู้ ในการเป็นเครื่องมือของการทำงานของเครือข่าย สร้างพื้นที่ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้”ที่หลากหลาย มีเวทีถอดบทเรียนตามระยะเวลาเพื่อวางหมุดหมายร่วมกัน
  2. สกัดบทเรียนที่เป็นความรู้ฝังลึก (tacit Knowledge) ประเด็น การจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นชุดองค์ความรู้ ต้นทุนของเครือข่ายจังหวัดต่อไป
  3. พัฒนาเครือข่ายที่มีอยู่เดิม เช่น เครือข่าย LLEN ของกำแพงเพชร เครือข่ายครูภาษาอังกฤษ ครูปฐมวัยของยะลา เครือข่ายครูเทศบาลนครขอนแก่น และเครือข่ายโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่มีพื้นที่ซ้อนลงไปใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา และ ขอนแก่น ซึ่งเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งที่เป็นกระบวนการพัฒนาศักยภาพครูสอนดี
  4. มีเวทีการถอดบทเรียน “วิทยากรกระบวนการ” กลางของ มูลนิธิสดศรี - มสส. เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู่วมกัน หลากหลายช่องทาง มีการตั้ง “หัวปลา”ที่ชัด และ มีพื้นที่ที่แลกเปลี่ยน สกัดบทเรียนการทำงานออกมา


ขอบคุณผู้จัดการระดับจังหวัด

  • ผอ.ณรงค์ ชูเพชร จ.ยะลา ผอ.กองการศึกษา เทศบาลนครยะลา พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่
  • ผอ.ยุทธ วงศ์ศิริ จ.ขอนแก่น ผอ.กองการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น  พร้อมด้วย คณะเจ้าหน้าที่ รวมถึง ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่นทั้งหมด
  • รศ.ดร.เรขา อรัญวงศ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.กำแพงเพชร
ขอบคุณทีมงานวิทยากร อ.วีระพงษ์ ทวีศักดิ์,อ.พฤหัส พหลกุลบุตร

และขอบคุณ คุณครูทุกท่านครับ


จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
๑๒/๐๙/๕๕

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

เวทีครูภูมิปัญญาไทยภาคใต้ : ข้อเสนอเเนะเชิงนโยบายในการจัดการความรู้สู่สากล

เรื่องเดิม : เวทีครูภูมิปัญญาไทยภาคเหนือ
 
เวทีการจัดการความรู้ภูมิปัญญาไทยสู่สากล ที่ภาคใต้ถือว่าเป็นเวทีครั้งที่ ๒ ที่จัดขึ้นในส่วนของระดับภูมิภาค หลังจากที่จัดขึ้นครั้งแรกที่ จ.เชียงใหม่ โดยมี สภาการศึกษา และ สถาบันสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบกระบวนการทั้งหมด
 
บทเรียนของคนทำงาน ของทีมงานวิทยากรจากเวทีแรก เรานำมาพูดคุยกันในการเตรียมตัวการทำงานในครั้งนี้ค่อนข้างจะรัดกุม กระชับมากขึ้น รวมถึงการลดเวลาในการทำกระบวนการเรียนรู้ลงมาเหลือเพียง ๑ วัน แต่ต้องมุ่งเป้าการพูดคุยให้ชัดมากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการความรู้ของครูภูมิปัญญาไทยสู่สากลในระดับประเทศ
 
ครั้งนี้ผมให้ทีมงานเตรียมข้อมูล ของครูภูมิปัญญาไทย ที่เราได้เชิญมาในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นข้อมูลจากสภาการศึกษาที่มีประวัติ รายละเอียด ของครูทั้งหมดของภาคใต้ มาให้ทีมงานวิทยากรได้รู้จักท่านก่อนเป็นพื้นฐาน และ เป็นการเตรียมพร้อมก่อนนำวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านโครงสร้างคำถามที่เราได้ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เป้าหมายท้ายสุดผ่านคำตอบของคำถามคือ ครูภูมิปัญญาจะต้องปรับตัวอย่างไร กับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และวิธีคิด กระบวนการ น่าจะเป็นอย่างไร แล้วการขอรับการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนั้นมีในรูปแบบไหนบ้าง?
ข้อมูลจากสภาการศึกษา เรามีครูภูมิปัญญาไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว (จากรุ่นที่ ๑ – รุ่น ๗) ๙ ด้าน ได้แก่
ครูภูมิปัญญาไทย
โดยครูทั้งหมดกระจายไปทั่วประเทศ  เราจึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ๔ ภาค เริ่มที่ภาคเหนือเวทีแรก ไปภาคใต้เวทีที่ ๒ จากนั้นจะมีเวทีที่ภาคอีสาน ๒ เวที (อีสานเหนือ – อีสานใต้)
ที่ภาคใต้ เราจัดเมื่อวันที่ ๘ กันยายนที่ผ่าน จัดขึ้นที่ โรงแรมโกลเด้นท์คราว หาดใหญ่ ครั้งนี้ได้น้องๆคนทำงานจาก มอ. มาช่วยเป็นทีมงานวิทยากรกระบวนการด้วย ข้อดีก็คือ สามารถใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาใต้) ในการสื่อสารนั่นเอง ทำให้วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีสีสันสนุกสนานมากขึ้นไปด้วย


ในวันดังกล่าวผมได้เป็น Facilitator ของกลุ่ม “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” กลุ่มนี้ถือว่า เป็นกลุ่มคนทำงานที่เข้มแข็งมากพอสมควรในภาคใต้ และมีประเด็นที่น่าสนใจในการขับเคลื่อนการทำงาน ผ่านครูภูมิปัญญา วงพูดคุยของเราคุยกันแบบโต๊ะกลม ง่ายๆและพูดคุยอย่างออกรส
ข้อสรุปในการพูดคุยของกลุ่ม น่าสนใจมากทีเดียว ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่น่าสนใจ ดังนี้ครับ

  1. การผดุงเกียรติ ศักดิ์ศรีของ “ครู” ในที่นี่คือ ครูภูมิปัญญาไทย การผดุงเกียรติและศักดิ์ศรี จึงหมายถึงการให้พื้นที่ในการยกย่อง เชิดชู ตามสมควร รวมไปถึงมีการสนับสนุนด้านต่างๆให้ครูภูมิปัญญาไทยได้ใช้ศักยภาพและผลิตภาพ (Productivity) ของครูได้เต็มศักยภาพ
  2. ฐานข้อมูลระบบข้อมูลสารสนเทศที่สามารถเข้าถึงง่าย และทันสมัย   สามารถนำไปใช้ได้ง่าย รวมถึงมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
  3. บทบาทครู ที่เป็น “ช่างเชื่อม” หรือ เป็น Facilitator นอกจากการที่ครูจะเป็นต้นแบบให้กับสังคม และ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้คนในสังคมแล้ว การเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ ศรัทธา ครูจะทำหน้าที่ผู้จัดการความขัดแย้งและไกล่เกลี่ยในสังคม  รวมไปถึง การเชื่อมต่อไปยังผู้ที่มีความสามารถด้านอื่นๆในชุมชน (ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนครู) แต่ท่านเหล่านั้นมีความสามารถและมีศักยภาพที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพัฒนาสังคมร่วมกันได้
  4. กระบวนการสร้างการเรียนรู้ เนื่องด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กระบวนการเรียนรู้แบบเดิมอาจไม่มีพลังพอในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ รวมถึงการที่ครูต้องทำความเข้าใจกับผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การสร้างกระบวนการเรียนรู้จึงต้องปรับให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีความเป็นบูรณาการ เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ “สอนน้อย เรียนให้มาก”
  5. การจัดการความรู้ (knowledge management )ใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างความเข้มแข็งของการสร้างความรู้ การพัฒนาสังคมและชุมชน อย่างมีพลัง สิ่งสำคัญนอกจากการใช้ KM ในการขับเคลื่อนพัฒนาแล้ว วิธีการถอดบทเรียน เป็นวิธีการหนึ่งในการ “เหลียวหลัง แลหน้า” ทบทวนบทเรียนที่เกิดขึ้น สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ เพื่อก้าวย่างต่ออย่างมีพลัง
  6. ระบบการจัดการเรียนการสอนกระแสหลัก หมายถึง ระบบการจัดการเรียนการสอนในระบบ ที่ครูภูมิปัญญาไทยเป็นครูที่ใช้หลักสูตรท้องถิ่นเป็น หลักสูตร เชื่อมต่อ ถ่ายทอดความรู้ไปสู่เยาวชนรุ่นหลังที่เป็นผู้เรียน มีความพยายามในการจัดระบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนสมัยใหม่ แต่อาจต้องเน้นการปฏิบัติเพื่อให้เห็นจริง  ปัญหาที่นำมาคุยกันในวงเรียนรู้อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ “การยอมรับการมีตัวตน” ของครูภูมิปัญญาไทย ของครูที่อยู่ในระบบ และเอื้อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพหลังจากนั้น นอกจากนั้นระบบการเรียนรู้ดังกล่าว จำเป็นต้องมีการพัฒนาการถ่ายทอดที่หลากหลายและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย มีการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นพื้นที่การสร้างความรู้ ถ่ายทอดความรู้ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ พัฒนาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของครูภูมิปัญญาไทยอย่างเป็นระบบ ศูนย์ฯ จะต้องดำรงฐานะเป็นสถาบัน มีการสนับสนุนที่เหมาะสมจากภาครัฐ
  7. สร้างความเข้มแข็งผ่านเครือข่ายครูภูมิปัญญา  ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอเพื่อการคงอยู่และพัฒนา ครูภูมิปัญญาไทย เครือข่ายจะเป็นเครื่องมือ ในเรื่อง การพัฒนาการเรียนรู้ เครือข่ายการจัดการ พิทักษ์สิทธิประโยชน์ของครูภูมิปัญญา มีกระบวนการเรียนรู้ที่เข้มแข็งและมีพลังผ่าน ระบบการจัดการความรู้ของเครือข่าย ยกตัวอย่าง กรณีภาคใค้มี เครือข่าย “เกลอย่าน” ที่สานพลังอยู่เดิม  เมื่อเราสามารถผนวกเอาเครือข่ายเดิมเราจะสามารถเติมความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นผ่านต้นทุนเดิมที่เครือข่ายมีอยู่
  8. ทำงานอิงระบบ ไม่ถูกครอบงำ – การทำงานร่วมกับภาครัฐแบบอิงระบบ หมายถึง การทำงานที่เอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน ไม่ครอบงำ บังคับทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง รัฐมีหน้าที่สนับสนุนระบบให้เติบโตตามศักยภาพ ในรูปแบบการสนับสนุนงบประมาณ,วิชาการ.เทคนิคใหม่ๆในการถ่ายทอดความรู้ และการสร้างพื้นที่ให้กับครุภูมิปัญญาไทยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่วนกลุ่มครูภูมิปัญญามีบทบาทในการพัฒนาสังคมผ่านผลิตภาพของครูภูมิปัญญาที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
  9. ระบบพิทักษ์สิทธิ ผลผลิต-ผลิตภัณฑ์ความรู้  ของครูภูมิปัญญาไทย ประเด็นนี้พูดคุยกันมากในวงแลกเปลี่ยน  เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผดุงสิทธิตามกฎหมาย ปกป้องการถูกเอาเปรียบทางลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ความรู้ ภาครัฐที่รับผิดชอบต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแล รวมไปถึงมีมาตรการปกป้องสิทธิดังกล่าว
ทั้งหมดเป็นข้อเสนอแนะในวง “แตะออ” (วงน้ำชา) ในวันนั้น โดยผมสรุปจากการพูดคุยมาเป็นประเด็นเพื่อเตรียมเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ผมจะสังเคราะห์ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อจัดกระบวนการครบ ๔ ภาค  ยังมีบทสรุปของวิทยากรกระบวนการท่านอื่นๆที่รับผิดชอบ ด้านต่างๆ ที่ยังไม่ได้นำเสนอในที่นี้ครับ ติดตามกันต่อครับ
 
ครูชบ ยอดแก้ว ครูภูมิปัญญาไทยภาคใต้


จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
๑๒/๐๙/๒๕๕๕

โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการองค์ความรู้ครูภูมิปัญญาไทยสู่สากล
สภาพการศึกษา และ ศูนย์ศึกษาการจัดการการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ ,สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์                                                                           


“โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการองค์ความรู้ครูภูมิปัญญาไทยสู่สากล” ขึ้น 
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดองค์ความรู้ของครูภูมิปัญญาไทย 
รวมทั้งการเสริมสร้างความเชื่อมั่นเชิงทักษะกระบวนการและทางวิชาการของ  ครูภูมิปัญญาไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น 
โดยศึกษาเชิงลึกและเก็บข้อมูลจากครูภูมิปัญญาไทยทั้ง 7 รุ่น จำนวน 406 คนจากทุกภูมิภาคของประเทศ"

คักอีหลีเมืองขอนแก่น : ชวนครูขอนแก่นเรียนรู้ 21st Century Skills

เวทีการเรียนรู้ 21st Century Skills ที่เมืองขอนแก่น


เป็นเวทีที่มีผู้เข้าร่วมเวทีจำนวนมาก และมีพลังมากทีเดียวครับ สำหรับ เวที การเรียนรู้ 21st Century Skills ของครูที่ขอนแก่น ที่มาเข้าร่วมกว่า 700 คน ในวันที่ 6 กันยายน  2555 ที่ผ่านมา จัดที่โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น โดยมี ผอ.ยุทธ วงศ์ศิริ ผอ.กองการศึกษาเทศบาลนครขอนแก่น เป็นผู้ประสานพลังในครั้งนี้

โดยการจัดเวทีเฉพาะกิจครั้งนี้ เราต่างก็มีสมมุติฐานคล้ายกันในเรื่อง การสร้างแรงบันดาลใจให้กับครู ส่วนเรื่อง เทคนิค หรือ ความรู้ ทักษะ ต่างๆที่ครูต้องเข้าใจ ตระหนักนั้น เป็นเรื่องรอง ผมเองก็มีความเชื่อมั่นที่คล้ายกันแบบนี้ การทำงานตามวิชาชีพครูเป็นเรื่องอุดมการณ์ และ “ใจ” มากกว่าอื่นใด  หากใจมาทุกอย่างก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผมยังจำคำกัลยาณมิตรท่านหนึ่งบอกผมเสมอๆว่า “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”


เป็นโอกาสที่ดีที่ ภาคการเมือง ซึ่งผมหมายถึง เทศบาลนครขอนแก่น ได้ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาการศึกษา โดยมีกระบวนการหลากหลายรูปแบบ เวทีนี้ก็เป็นหนึ่งของวิธีการพัฒนาครูเช่นกัน (สืบเนื่องมาจากเวทีเครือข่ายการพัฒนาครูสอนดี เวทีแรก) ที่จัดที่ โรงแรมเซนทาร่าขอนแก่น ครั้งนั้นจัดในโรงแรมที่เพิ่งเปิดใหม่ยังไม่ตกแต่งภายในยังไม่แล้วเสร็จ

ผมได้ข้อคิดอีกอย่างว่า บางครั้งเราต้องเดินหน้าไปในขณะที่องค์ประกอบบางอย่างอาจไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ แต่ในอนาคตการพัฒนาจะเข้ารูปเข้ารอยผ่านการเรียนรู้กันและกันเอง ต้องอาศัยเวลาและกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม


ในเวทีเฉพาะกิจครั้งนี้มีการออกแบบการเรียนรู้ที่น่าสนใจ โดย มีการพูดคุยเรื่อง 21st Century Skills ก่อน และมีการบรรยายการปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่อการพัฒนา รวมถึงมี เวทีสุนทรียะเล็กๆ จาก อ.วีระพงศ์ ทวีศักดิ์ วิทยากรที่เป็นศิลปินพิณแก้ว และมีไฮไลต์ที่น่าสนใจ คือ ศิลปะวาดทรายจาก Thailand’s Got talent ของ อ.ก้องเกียรติ กองจันดี ที่เป็นชาวขอนแก่น


ในช่วงบ่ายๆ เป็นช่วงวิชาการ โดย ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มข. ท่านมานำเสนอและชวนเรียนรู้ผลจากโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการ พัฒนาการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนด้วยวิธีการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการเรียนแบบเปิด (Open Approach)  มาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิดซึ่ง เป็นวิธีหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นใช้มากกว่า 50 ปี (ดูรายละเอียดจาก ที่นี่ ) ซึ่งผมมองว่าสอดคล้อง เชื่อมต่อกับกระบวนการช่วงเช้าได้เป็นอย่างดี 1 วันที่ขอนแก่นครั้งนี้ เป็นวันที่มีคุณค่าและทรงพลังอย่างยิ่ง

พื้นที่ของการเรียนรู้ ของครูขอนแก่นในครั้งนี้  จึงถือว่าใช้เวลา 1 วันที่เต็มประสิทธิภาพที่สุด ส่วนประสิทธิผลนั้นอาจต้องมองในระยะยาว แต่เท่าที่เสียงสะท้อนจากการ AAR เร็วๆ ผ่านหลายท่านมีการตอบรับดี คุณครูตื่นตัวและให้ความสนใจอย่างดี

กระบวนการในเวที

ในช่วงเช้า ผมเริ่มด้วย การบรรยาย 21st century Skills ผ่านการย่อยมาแบบง่าย เริ่มต้นจาก สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยน สังคมลูกเลี้ยงเดี่ยว และการผสมพันธ์ทางวัฒนธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงรวดเร็วในโลกยุคโพสต์โมเดินร์น ดังนั้ความเข้าใจตรงนี้หากนักพัฒนา ครู หรือนักการศึกษาอื่นๆที่ทำความเข้าใจปรากกการณ์นี้อย่างเข้าใจก็หมายถึง การเชื่อมต่อความคิดในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้คนในสังคมได้อย่างถูกทิศทาง และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลที่ดี สุดท้ายในการบรรยายยังเปิดงานนำเสนอเป็น Clip สั้นๆ ประเด็น 21st Century Skills เน้นย้ำทางเลือกในการสร้างการเรียนรู้อีกครั้ง ในส่วนของการสะท้อนการคิดเห็นใช้รูปแบบบัตรคำ และตอบคำถามจากโจทย์โดยใช้เวลาสั้นๆ ๒ คำถาม ดังนี้

ข้อที่ 1  ท่านได้เรียนรู้จากการบรรยายและ ชม Clip 21st Century Skills แล้วท่านมีความเข้าใจ หรือ ได้เรียนรู้อะไร?

ข้อที่ 2 ในสถานะและบทบาทของท่าน ท่านคิดว่าจะเชื่อมต่อความรู้ ความเข้าใจนี้ สู่ภาคปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนได้อย่างไร?

คำถาม 2 ข้อ โดยใช้เวลาสั้นๆ ได้ชุดข้อมูลที่เป็นข้อมูลสะท้อนความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว และยังได้ชุดข้อมูลการสังเคราะห์สู่การปฏิบัติอีกด้วย คำถามทั้งสองข้อต่อผู้คน 700 คน จึงเป็นก้อนข้อมูลชุดมหึมาทีเดียว ผมสนใจข้อคิดเห็นต่อความเข้าใจในครั้งนี้ครับ อย่างน้อย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมซึ่งเป็นวิทยากรกระบวนการได้สะท้อนบทบาทตัวเองไปด้วย เห็นวิธีการที่จะสร้างการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต ส่วนการเชื่อมไปยังการทำงานนั้น เป็นข้อคิดเห็นอีกชั้นหนึ่งที่มองเห็นวิธีคิดสู่การปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันได้

หลังจาก session ของผม ก็เป็นการบรรยายของ อ.วีระพงศ์ ทวีศักดิ์ ในหัวข้อ การปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน จนถึงเวลาเที่ยงกว่าๆ เต็มไปด้วยอรรถรสเเละแรงบันดาลใจที่เกิดจากการบรรยายของอาจารย์เป็นอย่างมาก เมื่อครูเข้าใจเนื้อหาความรู้ 21st Century Skills  และเติมด้วยพลังใจ ผ่านการมองอีกมุมของวิธีคิดง่ายๆที่อาจารย์วีระพงศ์ ชวนคุย ทำให้พลังของครูในภาคเช้าพุ่งถึงขีดสุด...

คำถามข้อที่ 1 ท่านได้เรียนรู้และ ชม Clip 21st Century Skills แล้วท่านมีความเข้าใจ หรือ ได้เรียนรู้อะไร? ผลจากการระดมความคิด ได้ข้อมูลดังนี้

ส่วนใหญ่ผู้ตอบจะบอกถึงความเข้าใจ มุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมไปถึง การเข้าใจทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี

กลุ่มที่มองเห็นปัญหาในปัจจุบันผ่านการทำงาน
คือ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเด็กนักเรียนที่เชื่อมโยงจากการเปลี่ยนแปลงของ สภาพสังคม,ปัญหาทางสังคมที่ทวีความรุนแรง,ปัญหาในการบริโภคข้อมูลข่าวสารที่ ท่วมท้นแต่ไม่มีกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูล และการนำไปใช้ “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”

กลุ่มที่มองเห็นวิธีคิดที่สอดคล้องกับการสร้างการเรียนรู้แบบใหม่
หลักใหญ่ใจความหลายๆท่าน เขียนคำว่า Change” คือ ต้อง “เปลี่ยน”  ต้องเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิด เข้าใจความแตกต่าง ความหลากหลายของผู้เรียน สังคมและสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าทัน,การต่อยอดความรู้ให้กับเด็ก,การพัฒนาทักษะครูเอง “ครูต้องเปลี่ยน”การศึกษายุคใหม่เน้นการพัฒนาทักษะมากกว่า ความรู้,Teach less learn more,การเรียนรู้ตลอดปี ตลอดเทอม,นักเรียนต้องมีความสุขในการเรียนรู้,เด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียน รู้,ความกลมกลืนของศตวรรษใหม่และเก่า,การมองไปที่ผลลัพธ์เพื่อการดำรงอยู่ ของเด็กท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลง,เด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยครู เป็นผู้เอื้ออำนวย,การเรียนรู้ตลอดชีวิต, เส้นทางการแสวงหาคำตอบไม่มีเส้นทางเดียว,คำตอบไม่สำคัญเท่ากระบวนการเรียน รู้,การผสมผสานของวัฒนธรรมในโลกยุคใหม่ที่ครูต้องเข้าใจ,จินตนาการสำคัญกว่า ความรู้,การพัฒนาสมอง หรือ Brain-Based Learning


ในมุมมองของครู
  • ครูต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่
  • การเป็นบุคคลเรียนรู้ของครู
  • พัฒนาทักษะในการเป็นครูผู้เอื้ออำนวยกระบวนการเรียนรู้
  • ครูต้องเสียสละและอดทน
  • ใช้ ความรัก ความเมตตา เป็นเครื่องมือ
  • มีระบบการคัดสรรค์ความรู้ สู่การสร้างความรู้
  • ยอมรับปรับตัวและเข้าใจ
  • การทำงานเป็นทีมของครู หรือ PLC นั่นเอง
ในมุมมองของการเชื่อมโยง
  • เน้นบูรณาการ(หลักสูตร/สาระ/เด็ก/ครู)
  • เชื่อมโยงความสนใจกับการออกแบบหลักสูตร กระบวนการ วิธีการ
ในมุมมองของสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้
  • การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้
  • การเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสอย่างแท้จริงให้กับเด็ก
  • สร้างห้องเรียนที่สนุกสนาน ห้องเรียนที่เป็นโลกกว้าง
  • สร้างเครือข่ายครูเพื่อการเรียนรู้ - PLC  ในโรงเรียน
ในมุมมองของการประเมินผล
  • การวัดผลแบบใหม่ที่เน้นดูพัฒนาการและความก้าวหน้า ไม่เน้นการได้ ตก ของเด็กนักเรียน
ในมุมมองของทักษะที่ครูมองเห็น
  • ทักษะการแสวงหาความรู้ (สอนวิธีตกปลา)
  • ทักษะการสร้างความรู้
  • ทักษะชีวิต
  • การสร้างกระบวนการคิด
  • ทักษะเชิงสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกัน
กลุ่มที่มองเห็นเทคนิค วิธีการ เพื่อสร้างการเรียนรู้
ได้แก่ การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่เน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก,การสร้างการเรียนรู้มีหลาหลายวิธีการ,เน้นการปฏิบัติจริง,การเรียนรู้แบบ PBL,การเรียนรู้แบบเป็นกลุ่ม ทีม,การฟังสำคัญต่อการเรียนรู้,หน้าที่เป็นโค้ช หรือ Facilitator สำหรับการเอื้ออำนวยให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่เด็กอยากเรียน ดูความพร้อมของเด็กด้วย,การจัดการความรู้ที่แทรกไปกับกระบวนการต่างๆ,การทำ SWOT Analysis ก่อนสร้างกระบวนการเรียนรู้ เป็นต้น

คำถามข้อที่สองก็น่าสนใจอย่างยิ่งครับ  เป็นคำถามที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ สู่การปฏิบัติ โดยให้ครูนึกถึงบทบาทตัวเอง (ทั้งผู้บริหารและครูผู้สอน) ว่า เราจะเชื่อมไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร
ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจมีดังนี้
  • การทำความเข้าใจสภาพสังคม นโยบาย ผู้เรียน และ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของผู้บริหาร,ครู ตลอดจนผู้ปกครอง
  • ครูต้องเป็นต้นแบบการเรียนรู้,การเปลี่ยนแปลงที่ครู พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง เปิดใจ ลดอัตตา ครูเป็นบุคคลเรียนรู้ (เปลี่ยนแนวคิดที่จะยัดเยียดความรู้,เปลียนแนวปฏิบัติ เทคนิคการสอน,เร่งพัฒนาตนเองเสมอ) มีเวทีการพัฒนาศักยภาพครูอย่างต่อเนื่องและเน้นชุมชนปฏิบัติในการจัดการความรู้
  • ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ เข้าใจความหลากหลายแตกต่างของเด็ก(พิจารณาศักยภาพเด็ก),การเปิดโอกาส สร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง โดยครูเป็น Facilitator หรือ เป็น Coach สร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงการออกแบบการเรียนรู้ ครูเป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งที่ร่วมเรียนรู้ไปด้วย เน้นการปฏิบัติจริง โดยมี PBL เป็นเครื่องมือในการสร้างทักษะแห่งศควรรษที่ 21
  • การสร้างทักษะให้กับผู้เรียนเน้น ทักษะชีวิต ทักษะการเป็นผู้นำ สำนึกพลเมือง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม จัดกิจกรรมที่หลากหลายให้เด็กได้ปฏิบัติ พัฒนากิจกรรมให้เด็กมีสมาธิ    จดจ่อ
  • การให้ความสำคัญต่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
  • การพัฒนา professional learning community (PLC)  หรือชุมชนปฏิบัติของครูในโรงเรียนเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนร่วมกัน การทำงานเป็นทีม สร้างการมีส่วนร่วม

"กระบวนการ PLC ที่ได้เรียนรู้ เป็นการระดมสมองของครูเพื่อนำมาแก้ปัญหาต่างๆ อยากให้ครูทุกคน ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมแก้ปัญหา

บางครั้งเราคิดว่าวิธีการ หรือความคิดของเราดีที่สุด แต่เมื่อเราได้แนวคิดจากเพื่อนๆ สิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดอาจมีสิ่งที่ดีกว่า

เรามาร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนการสอน ร่วมกันเถอะ อย่าอยู่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป เพื่อสร้างโลกใหม่ให้กับศิษย์ของเรา เขาจะได้อยู่ในสังคมแห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีความสุข"
(ครูท่านหนึ่ง -คัดลอกจากบัตรคำ)

  • ในกลุ่มของผู้บริหารก็เป็น คุณเอื้ออีกชั้นหนึ่งที่เอื้อให้ครูเกิด PLC ในโรงเรียน รวมไปถึง การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายในโรงเรียน สนับสนุนอุปกรณ์ สื่อต่างๆ รวมถึงงบประมาณ
  • การประเมินความก้าวหน้า ประเมินตามศักยภาพของเด็กประเมินรอบด้าน  ไม่เน้นการสอบได้หรือตก

ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่สังเคราะห์จากบัตรคำ 700+ แผ่น ที่ระดมความคิดแบบเร็วๆที่เราพอที่จะเห็นถึงความเข้าใจและการเชื่อมแนวคิดไปสู่การปฏิบัติได้ชัดเจนมากขึ้น

โดยส่วนตัวผมในฐานะวิทยากร เห็นว่า การขับเคลื่อนการพัฒนา 21st Century Skills นั้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน รวมถึงมีปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องมากมาย ส่วนในทางปฏิบัตินั้นคงต้องศึกษา วิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป


เวทีที่ขอนแก่นในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่ครูได้เรียนรู้ร่วมกันภายใต้บรรยากาศของความสุข จากเสียงดนตรี จาก อ.วีระพงษ์ ทวีศักดิ์ นักดนตรีพิญแก้ว ชื่อดัง และศิลปะผ่านการวาดทราย จาก อ.ก้องเกียรติ กองจันดี ศิลปินเลือดเนื้อชาวขอนแก่น เป็นครั้งแรกที่มีการบรรเลงดนตรีไปพร้อมๆกับการวาดทราย สร้างความประทับใจให้ผู้มาร่วมเวทีในครั้งนี้อย่างมาก...

วาระพิเศษครั้งนี้ผมเชื่อว่าเกิดพลังอย่างยิ่งโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวิธีคิดบางอย่าง มองเป้าหมายร่วมกันชัดเจนมากขึ้น ถือว่าเป็นก้าวย่างที่น่าจดจำไว้สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่เมืองขอนแก่นต่อไป


 จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
11/09/2555

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ครูภูมิปัญญาไทยสู่สากล...เส้นทางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง


เรื่องเล่าจากวงสนทนาถอดบทเรียนรูปแบบการจัดการความรู้ครูภูมิปัญญาเมืองล้านนา

จตุพร  วิศิษฏ์โชติอังกูร



วงสนทนาเล็กๆ ที่มีพ่อครูภูมิปัญญา ๓ ท่านได้แก่ครูรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ ครูภูมิปัญญาสาขาจิตรกรรม และสื่อผสม พ่อครูเสถียร  ณ  วงศ์รักษ์ ครูภูมิปัญญาสาขาวิจิตรศิลป์ และ พ่อครูอานนท์ ไชยรัตน์พ่อครูภูมิปัญญาสาขาศิลปกรรมที่เชี่ยวชาญด้านกลองล้านนา

ประเด็นสำคัญที่ตั้งโจทย์พูดคุยคือ “การจัดการความรู้ครูภูมิปัญญาไทยสู่สากล” หากแปลงโจทย์นี้ให้เข้าใจง่ายคือ กระบวนการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาองค์ความรู้ของครูภูมิปัญญาเพื่อการดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้น มีแนวทางอย่างไร? คำถามใหญ่และเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายให้พ่อครูภูมิปัญญาซึ่งเป็นผู้รักษา ธำรงภูมิปัญญาไว้ปัจจุบัน ชวนกันมองไปยังอนาคตจากพรุ่งนี้...

คำว่า “สากล” บางทีเราก็คิดถึงว่า ครูภูมิปัญญาไทยอยู่ตรงไหนของสากล เพราะเรามีพื้นที่สื่อน้อย ซึ่งก็มีผลอย่างมากในการแสดงอัตลักษณ์ของเรา พ่อครูอานนท์ เปรยถึงอนาคตของครูภูมิปัญญากับสถานการณ์ที่เป็นจริง เมื่อจะต้องก้าวไปข้างหน้าโดยผ่านคำว่า “สากล” แต่ในขณะเดียวกันยังไม่ชัดเจนในจุดที่ยืนอยู่ของครูภูมิปัญญา

“บ่ดีตี๋กล๋องแข่งฟ้า” แต่วันนี้ จำเป๋นต้องตี๋ เพื่อหื้อมีเสียงพ่องก็ยังดี(ไม่ควรตีกลองแข่งเสียงฟ้า แต่วันนี้จำเป็นต้องตี เพื่อให้มีเสียงบ้างก็ยังดี)

ข้อความนี้ของพ่อครูอานนท์  เป็นความพยายามในการสื่อสารเพื่อสร้างพื้นที่ของตนเอง แม้ว้าเสียงของวิถีการพัฒนากระแสหลัก กลบเสียงของกลุ่มคนเล็กๆที่ยึดมั่นในวิถีเดิมของตนเองอย่างเหนียวแน่นในบทบาทของผู้ที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่ออนาคตของภูมิปัญญา

มองไปที่การสร้างพื้นที่ของตนเองของครูภูมิปัญญา ที่น่าจะได้ผลและมีพลังมากที่สุดคือ “พื้นที่สื่อ” ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ผลงานและวิถีของครูภูมิปัญญา พื้นที่สื่อที่ต้องการต้องเป็นสื่อหลักและสื่อที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ง่าย

ข้อจำกัดที่ยังเป็น “อุปสรรค”ในการนำเสนอตัวตนของครูภูมิปัญญาไทย ที่ต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคม ดังนั้นรูปแบบการจัดการความรู้ครูภูมิปัญญาไทย จึงต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และเป็นการจัดการความรู้ที่มีพลังเพียงพอในการช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้ภูมิปัญญาควบคู่กับความรู้ที่หลากหลายในปัจจุบัน

หากเรารู้ต้นทุนทางสังคมของตนเอง อันได้แก่ ทรัพยากรทางประวัติศาสตร์ ทรัพยากรทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากรมนุษย์  ก็สามารถออกแบบ วางแผนการพัฒนาชุมชนไปได้

วิเคราะห์จุดอ่อนของสังคมสมัยใหม่ ผู้คนอ่อนแอ โดดเดี่ยวและไร้ความมั่นใจ ดังนั้นการสร้าง “พื้นที่กลาง” ของชุมชนน่าจะเป็นทางเลือกสำหรับคนยุคใหม่ พื้นที่กลางนั้น หากมองตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแล้ว “ข่วงวัด” น่าจะเป็นพื้นที่สำหรับใช้เป็นพื้นที่ทางสังคมสำหรับให้คนในสังคมมามีกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน  บรรยากาศของวัดและวัฒนธรรมชาวพุทธจะกล่อมเกลาให้คนเอื้ออาทรและรักกัน ประเพณีและงานทางด้านศาสนาน่าจะเป็น พื้นที่ทางสังคมที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ สามารถจัดการความรู้ผ่านพลังศรัทธาในศาสนา ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือผ่านการใช้ศรัทธาเป็นเครื่องร้อยรัด ให้ผู้คนเข้ามาสร้างกิจกรรมและการเรียนรู้ร่วมกัน

“เริ่มต้นด้วยตัวเอง มีความจริงจัง จนเป็นที่ประจักษ์”   พ่อครูอานนท์ บอกถึงการเรียนรู้ผ่านครูภูมิปัญญาที่เป็นทั้งผู้สร้างงาน และเป็นต้นแบบให้กับผู้คนในสังคม  ภูมิปัญญาสำคัญมาก เป็นราก เป็นต้นของการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผู้คนส่วนหนึ่งละทิ้งของเก่า ไปให้ความสำคัญกับสิ่งใหม่ ละทิ้งต้นทุนของตนเอง

ความหลากหลายของความรู้ ภายใต้ฐานความคิดที่ว่า ทุกอย่างไม่ได้สมบูรณ์ในตัวเอง ต้องพึ่งพาความหลากหลาย และ เติมเต็มซึ่งกันและกัน ประเด็นนี้เชื่อมไปยังศาสตร์การเรียนรู้ที่เป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญา กับองค์ความรู้สมัยใหม่ ที่ต้องเติมเต็มกันและกัน เป็น ภูมิปัญญาไทยที่อิงวิชาการ เป็นทางรอดหนึ่งของการสืบทอดความรู้ (พ่อเสถียร) แต่การที่ครูภูมิปัญญาไทยจะนำเสนอความรู้ภูมิปัญญาโดยอิงงานวิชาการและทฤษฏี เหมือนนักวิชาการกระแสหลักนั้น เป็นเรื่องยาก อาจทำได้ในครูภูมิปัญญาบางท่านเท่านั้นเอง

“ถามว่าผมตายสักกี่ชาติ จะวาดรูปได้เทียบชั้น ไมเคิล เองเจลโล” 

ครูรุ่งโรจน์ กล่าวในวงสนทนา นัยยะของประโยคนี้ครูรุ่งโรจน์กำลังจะบอกว่า องค์ความรู้ที่เป็นความรู้แฝง(Tacit Knowledge)นั้นยากที่จะนำไปเปรียบเทียบผ่านมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง แต่เป็นความเฉพาะของบุคคลๆหนึ่ง ดังนั้นองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบหรือ อิงงานวิชาการจนเกินไป จนสูญเสียคุณค่าของงานที่รังสรรค์ผ่านประสบการณ์จนเป็นภูมิปัญญา


          รูปแบบการจัดการความรู้ ที่น่าสนใจของพ่อครูภูมิปัญญาไทยล้านนา ออกเป็นเป็นโมเดลได้ดังนี้


ภาพที่ ๑ ภาพจำลองโมเดลการจัดการความรู้
โดยโมเดลนี้สามารถอธิบายได้ถึงกระบวนการการจัดการความรู้ ที่ทำให้ดู ให้เห็น (หัน)เป็นตัวอย่าง หรือ แสดงให้ดู เพื่อสร้างความต้องการในการเรียนรู้ (เฮียน) เมื่อเรียนไปจะเกิดความชอบ หลงใหล(หู๋ม)เกิดแรงบันดาลใจและกลายเป็นความรัก (ฮัก) ในที่สุด ความรักจะกลายเป็น “จิตวิญญาณ” ของคนหนึ่งคนในที่สุด
การเกิดของความรู้ เป็นปรากฏการณ์ "เรอเนสซองซ์” ที่เป็นเสมือน การเกิดใหม่ ซึ่งเป็นการระลึกถึงศิลปะ ซึ่งเคยรุ่งเรืองให้กลับมาอีก กระบวนการเกิดใหม่ เป็นการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม (Cultural Reproduction) และเป็นการจัดการความรู้ที่เป็นวงจรธรรมชาติของความรู้

รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ของครูภูมิปัญญา โดยมีตัวของครูภูมิปัญญาเป็น “ทางผ่านของความรู้” กระบวนการถ่ายทอดความรู้ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบของการเข้ามาเรียนรู้ของผู้ที่สนใจ และเกิดจากการเข้ามาศึกษาดูงานของกลุ่มต่างๆ การไปถ่ายทอดความรู้ในศูนย์การเรียนรู้ที่จัดไว้ ตลอดจนการเข้าไปสอนในหลักสูตรท้องถิ่น ในสถาบันต่างๆตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา สำหรับพื้นที่ในการถ่ายทอดความรู้ ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญเพราะพื้นที่สัมพันธ์กับขนาดของผู้รับการถ่ายทอด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นพื้นที่ส่วนตัว จะเป็นลักษณะของการศึกษาดูงาน หรือผู้สนใจที่เข้ามารับการเรียนรู้ และหากเป็นสถาบันก็มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
พื้นที่ที่น่าสนใจและส่งผลต่อปริมาณการถ่ายทอดความรู้คือ “พื้นที่สาธารณะ” ที่ใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงผลงานภูมิปัญญา ถือว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านการชม จึงมีการสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ๆที่มีพื้นที่ในการนำเสนอตัวตนของงานภูมิปัญญา
พื้นที่ที่น่าสนใจและสมคุณค่าของภูมิปัญญาคือ “วัด” ในอดีตใช้ “ข่วงวัด” เป็นพื้นที่การเรียนรู้ การปะทะสังสรรค์ของผู้คนในวัดภายใต้บรรยากาศแห่งความศรัทธา ความเอื้ออาทรจะร้อยรัดผู้คนให้เปิดใจรับความรู้ และเป็นบรรยากาศแห่งความดีงาม การเรียนรู้จะเป็นการเรียนรู้เชิงบวกและมีพลัง
ทางเลือก และทางรอดในการสืบสาน สังคายนาภูมิปัญญาในสถานการณ์ปัจจุบัน

มุมมองของการสนทนาให้ความสนใจในการแสดง “อัตลักษณ์” ของตนเองของครูภูมิปัญญาไทยสู่สังคม ครูภูมิปัญญาไทยมองว่า “พื้นที่สื่อหลัก” น่าจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำเสนอตัวตนและคุณค่าของครูภูมิปัญญาเพื่อให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้าง เชื่อว่าการสื่อสารผ่านสื่อหลักจะมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้คนเกิดการยอมรับและสนใจ ภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง
การเข้าถึงข้อมูลครูภูมิปัญญา เป็นประเด็นสำคัญที่เสริมให้สื่อกระแสหลักเข้าถึงข้อมูลครูภูมิปัญญา ดังนั้นการจัดทำฐานข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เห็นแผนที่ภูมิปัญญาที่ชัดเจน เข้าถึงได้ง่ายจากเครือข่ายออนไลน์ น่าจะเป็นเส้นทางลัดในการเปิดโลกภูมิปัญญา
องค์กรที่เข้ามาสนับสนุน มีส่วนสำคัญในการผลักดัน ในการสร้างพื้นที่ให้กับครูภูมิปัญญา ซึ่งปัจจุบันมีสภาการศึกษา ที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีสมาคมครูภูมิปัญญาที่พยายามจัดตั้งขึ้นเองจากการคัดเลือกตัวแทนที่ยังไม่เป็นรูปร่างมากนัก มีความคาดหวังว่าในอนาคตจะมีสถาบันภูมิปัญญาที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาระบบการจัดการความรู้และ กลุ่มครูภูมิปัญญาอย่างแท้จริง
เครือข่ายครูภูมิปัญญาที่ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันในเครือข่าย ตลอดจนเกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในเครือข่าย
มีการผลักดันองค์ความรู้ครูภูมิปัญญาเข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งในระบบการศึกษา และนอกระบบการศึกษา ในการถ่ายทอดต้องมีรูปแบบองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่อิงฐานงานวิชาการ และมีแผนงานครูภูมิปัญญาที่เป็นรูปธรรม และมีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการอย่างเพียงพอ
เพื่อการคงอยู่ของภูมิปัญญา ต้องมีการค้นหาทายาทเพื่อสืบทอด และหาช่องทาง กลวิธีให้กับผู้คนที่ไม่ได้ละทิ้งภูมิปัญญาแต่ไม่รู้ว่าจะเข้าถึงภูมิปัญญาพร้อมกับใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญานั้นๆได้อย่างไร

พันธกิจของชีวิต ที่เป็นเหมือนหมุดหมายของปลายทางครูภูมิปัญญา
ความตั้งใจของครูภูมิปัญญาที่มองภาพอนาคตที่ไม่ไกลมากนัก เป็นเหมือนเป้าหมายที่ครูภูมิปัญญาเองต้องทำภารกิจเพื่อให้ถึงจุดนั้น พ่อครูอานนท์ สล่ากลองล้านนา ให้ความสำคัญในการสืบทอดภูมิปัญญา สร้างทายาทในสิ่งที่พ่อครูเพียรทำ และพ่อครูรุ่งโรจน์ คิดถึงการดึงรั้งให้ผู้คนหันกลับไปทบทวนต้นทุนทางสังคมของตนเอง และหวนรำลึกถึงอดีต รื้อฟื้นองค์ความรู้เหล่านั้น  “ขอให้มีชีวิตอยู่เพื่อพัฒนาความเชื่อของตนเองในการที่จะสืบสานงานศิลป์บนพื้นฐานศาสนา” พ่อครูรุ่งโรจน์บอกเป้าหมายและความคาดหวัง สุดท้ายพ่อครูรุ่งโรจน์ มองถึงภาพตนเองที่เป็น “สล่าโบราณอยู่ที่บ้านสร้างงาน”  ที่ครูมองว่าเป็นความสุขสุดท้ายที่อิ่มเต็มทางจิตวิญญาณของครูภูมิปัญญา

----------------------------------------------------------------------------------

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
เวทีถอดบทเรียนศักยภาพการจัดการความรู้ครูภูมิปัญญาไทยสู่สากล
โรงเเรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ 
๔-๕ สค.๕๕

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ชวนครูกำแพงเพชรเดินออกมานอกกล่อง มองดู 21st Century


ชวนครูกำแพงเพชรเดินออกมานอกกล่อง มองดู 21st Century พร้อมๆกัน

การทำหน้าที่ Facilitator เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและไม่ยาก และอย่างที่ทราบกันว่า การเป็นผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ที่ดีนั้นเป็นทั้ง “ศาสตร์และศิลป์” เราอาจมีความรู้เป็นอย่างดีในการเป็น Facilitator แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถเป็น Facilitator ที่ดีและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สำเร็จและมีความสุขได้ องค์ประกอบของการทำหน้าที่ผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้จึงละเอียดอ่อน และต้องการการฝึกฝนตัวเองอย่างประณีตเพียงพอที่จะเข้าใจผู้คน และเข้าใจวิถีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างโหมดเรียนรู้ ผ่าน “ความสุข ความปลอดภัย”









เดินทางมาที่กำแพงเพชร เพื่อมาทำ Workshop การพัฒนาศักยภาพครู Facilitator ที่เชื่อมโยงกับวิถีการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ ใน ศตวรรษที่ ๒๑  โดยมีทีมงานกำแพงเพชร (มรภ.กำแพงเพชร) ที่มี รศ. ดร.เรขา อรัญวงศ์ เป็นผู้จัดการในพื้นที่

ที่กำแพงเพชรมีต้นทุนที่ค่อนข้างพร้อม จากโครงการ LLEN  (โครงการพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก) ที่มีการดำเนินการที่นี่มาก่อน ดังนั้นกลุ่มครูแกนนำที่เข้ามาร่วม workshop จึงมี “ต้นทุน” ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมไปถึงคุ้นชินกระบวนการสร้างความรู้ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันแนวทางของ KM ทำให้ “ศักยภาพ+ความรู้” ของผู้เข้าร่วม workshop ครั้งนี้ จึงไม่ยากมากในการเพิ่ม-เติม-และเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพ Facilitator อันเป็นทักษะที่สำคัญของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ รวมไปถึงการเปลี่ยนจากครูปกติมาทำหน้าที่บทบาท "ครูผู้จัดกระบวนการเรียนรู้"
สำหรับตัวผมเองที่มาทำหน้าที่ ทีมวิทยากรกลางเองก็ค่อนข้างสบายใจเป็นเบื้องต้น จากความพร้อมของพื้นที่ และวางแผนการทำ Workshop แบบหลวมๆ ตามสไตล์ที่ผมถนัด ที่จะวิเคราะห์สถานการณ์เร็วๆแล้วสร้างกระบวนการเรียนรู้เฉพาะตรงนั้น  อย่างไรก็ตามการที่ผมคิดแบบนี้ ผมมีการเตรียมความพร้อมมาระดับหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ในสถานการณ์จริงบางครั้งแทบไม่ได้ทำตามที่วางแผนมาเลย ได้เรียนรู้ใหม่ๆทุกครั้งแม้ว่าเป็น วิถีการทำงานที่คุ้นเคย กลุ่มเป้าหมายเดิม วัฒนธรรมเดิมๆ แต่ได้ ชุดความรู้ใหม่ๆได้ทักษะใหม่ๆให้กับตัวเองทุกครั้ง


การทำหน้าที่ Facilitator เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและไม่ยาก และอย่างที่ทราบกันว่า การเป็นผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ที่ดีนั้นเป็นทั้ง “ศาสตร์และศิลป์” เราอาจมีความรู้เป็นอย่างดีในการเป็น Facilitator แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถเป็น Facilitator ที่ดีและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สำเร็จและมีความสุขได้  องค์ประกอบของการทำหน้าที่ผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้จึงละเอียดอ่อน และต้องการการฝึกฝนตัวเองอย่างประณีตเพียงพอที่จะเข้าใจผู้คน และเข้าใจวิถีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างโหมดเรียนรู้ ผ่าน“ความสุข ความปลอดภัย”
ที่กำแพงเพชร เริ่มต้น กระบวนการเรียนรู้โดย ชวนครูเดินออกมานอกกล่อง มองดู 21st Century พร้อมๆกัน ช่วยกันขบคิดว่า มีทักษะใดบ้างที่เราต้องพัฒนาทั้งตนเองและเด็กๆของเรา เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขนาดนั้น แน่นอนว่าถึงแม้ว่าผลลัพธ์เกิดทักษะที่หลากหลาย จากการทำงานหนักของผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้นั้น “เหนื่อย” และมีแนวโน้มที่จะ “ไม่ยั่งยืน” หากไม่ได้ใช้ “หัวใจของการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเพื่อก้าวไปสู่ 21st Century Skills” ซึ่งได้แก่ การสร้างแรงบันดาลใจของผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ ,การสอนวิธีการเพื่อสร้างความรู้  (Learn How to Learn)

เป้าหมายที่จะเดินทางไปให้ถึงคือ 21st Century Skills ที่มี PBL(Project Based learning) เป็นเครื่องมือ มีชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ ที่เราเรียกว่า CoPs ครู ตอนนี้เราใช้คำว่า  PLC (Professional learning Community) เป็นตัวช่วย ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง การที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้ได้นั้น ต้องเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อน เปลี่ยนที่ระดับกระบวนทัศน์กันเลยทีเดียว
วิธีคิดหลักๆในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่คนทำงานคือ
  • ถอดถอนความคิดเดิม
  • เติมความคิด มุมมองใหม่ๆ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไตร่ตรองผ่านบริบทจริง
  • ชวนกันคิดว่า “หากจะเปลี่ยน” เราต้องเริ่มจากตรงไหน
  • หาวิธีการแล้วลองทำดู ถอดบทเรียนเป็นระยะๆ


ที่กำแพงเพชรเราเริ่มต้นกันแบบนี้ โชคดีที่เครือข่ายครูที่นี่เข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มรายสาระวิชา (วิทยาศาสตร์ +ภาษา+คณิตศาสตร์) เวลาเราคุยถึง เข็มมุ่ง 21st Century Skills แล้ว ต่อติดได้เร็ว และกระบวนการกลุ่มที่มีครู Facilitator ที่ผ่านการฝึกทักษะเบื้องต้น สามารถเป็นผู้นำในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้เป็นอย่างดี

การถอดบทเรียนเล็กๆเพื่อให้เห็นตัวกระบวนการสร้างความรู้ในชีวิตการทำงานของครู ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากเชื่อมไปยัง Skillsของ 21st Century Skills ได้ชัดเจน ครูก็เห็นความหวังมากขึ้น รวมไปถึงหาวิธีการใหม่ เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ที่ครูคิด สนุกสนาน สร้างแรงบันดาลใจให้ศิษย์มากขึ้นไปด้วย 


ส่วน PLC ที่เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ สร้างจากการทดลองรวมกลุ่มเล็กๆใน workshop วันนี้ เห็นความอัศจรรย์ของการแลกเปลี่ยน เราเห็นว่า PLC เป็นตัวช่วยของครูได้จริงๆ
โดยสรุป : กระบวนการพัฒนาศักยภาพครู Facilitator ที่กำแพชร ที่ใช้เวลาเร่งรัดภายใน ๒ วัน วันแรกฝึกทักษะ Facilitator วันที่สองได้ทำจริงผ่านเครือข่ายครูสอนดีที่ได้เชิญมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนรู้ การยืดหยุ่นและเปิดใจให้กว้างในการเรียนรู้ร่วมกันตลอดจนการหากลวิธีที่เหมาะสมกับบริบทและวัฒนธรรมของครูกำแพงเพชรจริงๆ


ในบทบาททีมวิทยากรกลางของผม...อาจต้องรอคอย และติดตามเรียนรู้กับครูที่กำแพงเพชรเป็นระยะๆ เพื่อค้นหา “บทเรียน” ที่จะนำไปแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายครูสอนดี อีก ๑๔ จังหวัดต่อไป
 
action กับ อ.เอ็ม มณฑล (ม.หัวเฉียว) ที่ไปช่วยกันใน Workshop ที่กำแพงเพชร


จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
๙ - ๑๐ มิ.ย.๕๕
มรภ.กำแพงเพชร