วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ดอกไม้เหล็ก...ของเหล่านักรบชุดดำ

 จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

 

ผมมุ่งหน้าเดินทางไปอำเภอรามัน จังหวัดยะลาใน ตอนบ่ายของวันฟ้าครึ้ม ... ธรรมชาติสองข้างทางระหว่างยะลา ถึงรามัน เขียวสดด้วยพรรณไม้ วิถีชีวิตที่นี่ยังคงเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย หากไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ยะลา และ ๓ จังหวัดชายแดนใต้น่าจะเป็นพื้นที่ที่เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำ อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่และเมืองใหญ่

 

ธรรมดาของฟ้าครึ้ม เมฆที่หม่นบรรยากาศของฤดูฝน  ในใจของผมจึงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนัก เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในขณะนี้ เป้าหมายที่ผมจะไปพบในช่วงบ่ายนี้ เป็นทหารพรานได้รับการติดต่อมาจากผู้ประสานงานในพื้นที่อีกที


ทหารพรานถือว่าเป็นนักรบในพื้นที่ที่เป็นแนวหน้า ภาพฉายของทหารพรานจึงถูกมายาคติบางอย่าง สร้างภาพลักษณ์ให้กับพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม และแล้วแต่สายตาคนนอกจะมอง ก่อนหน้านั้นกลุ่มเป้าหมายหลากหลายที่ผมเคยไปสัมภาษณ์กล่าวถึง "นักรบชุดดำ" ไม่สู้จะดีนัก


รถของผมเลี้ยวเข้าค่าย ตชด. (กองร้อยทหารพรานที่ ๔๑ กองกำลังทหารพราน กองทัพบกที่ ๔) ที่เราต้องลดกระจก พร้อมบอกวัตถุประสงค์การมาสัมภาษณ์เป้าหมาย การเดินทางเข้าค่ายทหารต้องมีพิธีรีตองพอสมควรในสภาวะไม่ปกติเช่นนี้ แต่ทางผู้ประสานงานได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว

ผมรอไม่นาน ทางทหารพรานได้เชิญไปนั่งพูดคุยยังอาคารรับรอง ผมได้พบกับทหารสองท่าน เป็นชายหนึ่งนาย และ ทหารพรานผู้หญิงหนึ่งนาย เราได้ทำความรู้จัก และพูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ พร้อมกับแนวทางการทำงานยุทธวิธี-ยุทธการ และคุยกันมากในประเด็นงานพัฒนาซึ่งทางทหารพรานมีชุดพัฒนาสันติในพื้นที่ ๑๐ ชุด และความสำเร็จของชุดพัฒนาสันติ เป็นประเด็นที่เราพูดคุยกันเป็นส่วนใหญ่


ตามจริงผมสนใจ งานยุทธการมากกว่างานพัฒนา หากมองในมุมมองในหน้าที่นักวิจัยที่จะค้นหาความจริง บางอย่าง ในภาพลักษณ์ที่ข้างนอกมองมายังทหารพรานผู้กล้า แต่เป้าหมายผมทั้งสองท่าน ช่ำชองในงานพัฒนา ปฏิบัติการจิตวิทยาในพื้นที่มากกว่า เนื้อหาโดยส่วนใหญ่จึงโพกัสที่งานพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ...และสรุปความทุก ครั้งในการพูดในแต่ละประเด็นว่าต้อง "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา"


จ่าสิบเอกทวี สุณี  ทหารพรานชายที่ผมพูดคุยด้วย บอกผมว่า งานพัฒนาในชุมชน เราต้องได้ใจชาวบ้าน การเดินทางเข้าไปพัฒนาจึงเป็นภารกิจแสดงความจริงใจในการที่สร้างความอยู่ดี กินดีให้กับพี่น้องชาวบ้าน "พอเขารักเรา เขาก็จะดูแลเรา" จ่าทวีฉายให้ผมเห็นถึงความสำเร็จในการเข้าถึงใจของชาวบ้านที่มีชุดสันติพัฒนาของทหารพรานเข้าไป


ทหารพรานที่มาพบในวันนี้ หนึ่งในนั้นเป็นหญิงสาวที่มีอาชีพเช่นเดียวกับจ่าทวี  สิ่งที่อยู่ในความสนใจและผมอยากถามอยากเรียนรู้ ก็คือ ชีวิตการเข้ามาเป็นทหารพรานหญิง ของหญิงสาวน่าตาดีที่นั่งอยู่ใกล้กับผมขณะนี้ เธอตัวแบบบาง ขนตางอนงาม ผิวไม่ขาวมาก คมเข้มตามแบบฉบับสาวชาวใต้ทั่วไป...ผมนั่งแอบมองเธอด้วยความสนใจ

"อยากเป็นทหาร เป็นความรู้สึกที่มีมาตั้งนาน เพราะพ่อ และลุงเป็นทหาร ประกอบกับชอบมีเพื่อนๆผู้ชาย อยู่กับผู้ชายส่วนใหญ่คะ"  


น้องเดือน (ส.ต.หญิง จริยาวดี ชูพันธ์) บอกผมถึงแรงบันดาลใจที่อยากเข้ามาเป็นทหาร อาชีพที่ไม่น่าจะเป็นอาชีพที่เลือกของหญิงสาวแบบเธอ

"ตัดสินใจสมัครเป็นทหารพรานตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี หลังจากเรียนจบ ปวช. มีคนมาสมัครเยอะ ตอนนั้นได้รับการคัดเลือก ๓ คน รวมทั้งเดือนด้วย" 

น้องเดือนกล่าว อย่างภูมิใจ ขณะนี้น้องเดือนอายุ ย่างเข้า ๒๓ ก็หมายถึงเธอรับราชการทหารมาเกือบ ๕ ปี สาวน้อยจาก อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช เธอนั่งยิ้มน้อยและผมสัมผัสได้ถึงพลังบางอย่างในตัวเธอ และความมุ่งมั่นภายใต้ดวงตางามของน้องเดือน

ผมสนใจวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงจากหญิงสาวที่ต้องมีวิถีชีวิตแบบคน อื่น กับการตัดสินใจเป็นทหารพราน การฝึกซ้อมหนักหน่วงไม่ต่างจากทหารพรานชาย อีกทั้งมีการฝึกทบทวนอยู่บ่อยๆ ลักษณะงานนอกจากจะงานพัฒนาแล้ว การปิดล้อม ตรวจค้น ทหารพรานหญิงมีบทบาทอย่างยิ่งในภาระกิจนี้...โดยเฉพาะพื้นที่ความไม่สงบใน สามจังหวัด เธอยังยืนหยัด และภาคภูมิใจในอาชีพ พร้อมภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย

ผมถามเรื่องของหัวใจว่าคนสวยๆแบบน้องเดือน มีเรื่องราวความรักอย่างไร?  ดูเหมือนว่าจะนอกประเด็นไปบ้างในการสนทนา แต่ด้วยสนใจส่วนตัวว่าสาวสวยใจเหล็กแบบเธอจะคิดอย่างไร
"บังคับโสด"  น้องเดือนบอกผม


คำว่า บังคับโสด หมายถึงว่าอาชีพแบบน้องเดือน เธอบอกว่า ไม่ ค่อยได้พบเจอใคร นอกจากเพื่อนร่วมอาชีพ ซึ่งเธอบอกว่า หากจะมีใครสักคน น่าจะไม่ใช่ทหารพราน เพราะหากเป็นทหารพรานด้วยกันเวลาไม่ตรงกัน ก็ไม่มีเวลาให้กันอยู่แล้ว จริงๆผมคิดว่าทหารพรานด้วยกันเสียอีกที่จะเข้าใจกันมากกว่า เธอบอกผมอีกว่าเคยมีแฟนก่อนหน้านั้นแล้วก่อนมารับราชการทหารและได้เลิกกัน ก่อนที่เดือนจะมารับตำแหน่งที่ค่ายรามัน

"วันนี้ขอเป็นโสดเพื่อทำงานให้เต็มที่"  

น้องเดือนบอกถึงความในใจที่มี
ดอกไม้สวยแห่งกองทัพไม่ได้เพียงสีสวยตามรูปลักษณ์และสร้างสีสันแต่เพียง อย่างเดียว  ดอกไม้เหล็กดอกนี้แกร่งและเข้มแข็ง ร่วมเป็นแรงหนึ่งที่สร้างความสมานฉันท์ สงบสุขในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้



บทสนทนาช่วงหลังจึงเน้นการพูดคุยแบบสบายๆ ผู้หมู่เดือน กับ จ่าทวี ทั้งสองท่านมีความภาคภูมิใจในอาชีพ ความรักในอาชีพ ความตั้งใจที่จะพัฒนาชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี ตามเป้าหมายของนโยบาย และนอกเหนือจากนั้นคือความผูกพันกับพื้นที่ที่ทั้งสองต่างก็บอกกับผมว่า พื้นที่รามัน ยะลา เป็นพื้นที่เสมือนบ้านเกิด พวกเขาทั้งรักและหวงแหนพื้นที่แห่งนี้ ปรารถนาให้เกิดความสงบ สันติสุข




 ให้กำลังใจคนทำงานสามจังหวัดชายแดนใต้ทุกท่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น: