วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ครูภูมิปัญญาไทยสู่สากล...เส้นทางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง


เรื่องเล่าจากวงสนทนาถอดบทเรียนรูปแบบการจัดการความรู้ครูภูมิปัญญาเมืองล้านนา

จตุพร  วิศิษฏ์โชติอังกูร



วงสนทนาเล็กๆ ที่มีพ่อครูภูมิปัญญา ๓ ท่านได้แก่ครูรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ ครูภูมิปัญญาสาขาจิตรกรรม และสื่อผสม พ่อครูเสถียร  ณ  วงศ์รักษ์ ครูภูมิปัญญาสาขาวิจิตรศิลป์ และ พ่อครูอานนท์ ไชยรัตน์พ่อครูภูมิปัญญาสาขาศิลปกรรมที่เชี่ยวชาญด้านกลองล้านนา

ประเด็นสำคัญที่ตั้งโจทย์พูดคุยคือ “การจัดการความรู้ครูภูมิปัญญาไทยสู่สากล” หากแปลงโจทย์นี้ให้เข้าใจง่ายคือ กระบวนการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาองค์ความรู้ของครูภูมิปัญญาเพื่อการดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้น มีแนวทางอย่างไร? คำถามใหญ่และเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายให้พ่อครูภูมิปัญญาซึ่งเป็นผู้รักษา ธำรงภูมิปัญญาไว้ปัจจุบัน ชวนกันมองไปยังอนาคตจากพรุ่งนี้...

คำว่า “สากล” บางทีเราก็คิดถึงว่า ครูภูมิปัญญาไทยอยู่ตรงไหนของสากล เพราะเรามีพื้นที่สื่อน้อย ซึ่งก็มีผลอย่างมากในการแสดงอัตลักษณ์ของเรา พ่อครูอานนท์ เปรยถึงอนาคตของครูภูมิปัญญากับสถานการณ์ที่เป็นจริง เมื่อจะต้องก้าวไปข้างหน้าโดยผ่านคำว่า “สากล” แต่ในขณะเดียวกันยังไม่ชัดเจนในจุดที่ยืนอยู่ของครูภูมิปัญญา

“บ่ดีตี๋กล๋องแข่งฟ้า” แต่วันนี้ จำเป๋นต้องตี๋ เพื่อหื้อมีเสียงพ่องก็ยังดี(ไม่ควรตีกลองแข่งเสียงฟ้า แต่วันนี้จำเป็นต้องตี เพื่อให้มีเสียงบ้างก็ยังดี)

ข้อความนี้ของพ่อครูอานนท์  เป็นความพยายามในการสื่อสารเพื่อสร้างพื้นที่ของตนเอง แม้ว้าเสียงของวิถีการพัฒนากระแสหลัก กลบเสียงของกลุ่มคนเล็กๆที่ยึดมั่นในวิถีเดิมของตนเองอย่างเหนียวแน่นในบทบาทของผู้ที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่ออนาคตของภูมิปัญญา

มองไปที่การสร้างพื้นที่ของตนเองของครูภูมิปัญญา ที่น่าจะได้ผลและมีพลังมากที่สุดคือ “พื้นที่สื่อ” ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ผลงานและวิถีของครูภูมิปัญญา พื้นที่สื่อที่ต้องการต้องเป็นสื่อหลักและสื่อที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ง่าย

ข้อจำกัดที่ยังเป็น “อุปสรรค”ในการนำเสนอตัวตนของครูภูมิปัญญาไทย ที่ต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคม ดังนั้นรูปแบบการจัดการความรู้ครูภูมิปัญญาไทย จึงต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และเป็นการจัดการความรู้ที่มีพลังเพียงพอในการช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้ภูมิปัญญาควบคู่กับความรู้ที่หลากหลายในปัจจุบัน

หากเรารู้ต้นทุนทางสังคมของตนเอง อันได้แก่ ทรัพยากรทางประวัติศาสตร์ ทรัพยากรทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากรมนุษย์  ก็สามารถออกแบบ วางแผนการพัฒนาชุมชนไปได้

วิเคราะห์จุดอ่อนของสังคมสมัยใหม่ ผู้คนอ่อนแอ โดดเดี่ยวและไร้ความมั่นใจ ดังนั้นการสร้าง “พื้นที่กลาง” ของชุมชนน่าจะเป็นทางเลือกสำหรับคนยุคใหม่ พื้นที่กลางนั้น หากมองตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแล้ว “ข่วงวัด” น่าจะเป็นพื้นที่สำหรับใช้เป็นพื้นที่ทางสังคมสำหรับให้คนในสังคมมามีกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน  บรรยากาศของวัดและวัฒนธรรมชาวพุทธจะกล่อมเกลาให้คนเอื้ออาทรและรักกัน ประเพณีและงานทางด้านศาสนาน่าจะเป็น พื้นที่ทางสังคมที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ สามารถจัดการความรู้ผ่านพลังศรัทธาในศาสนา ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือผ่านการใช้ศรัทธาเป็นเครื่องร้อยรัด ให้ผู้คนเข้ามาสร้างกิจกรรมและการเรียนรู้ร่วมกัน

“เริ่มต้นด้วยตัวเอง มีความจริงจัง จนเป็นที่ประจักษ์”   พ่อครูอานนท์ บอกถึงการเรียนรู้ผ่านครูภูมิปัญญาที่เป็นทั้งผู้สร้างงาน และเป็นต้นแบบให้กับผู้คนในสังคม  ภูมิปัญญาสำคัญมาก เป็นราก เป็นต้นของการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผู้คนส่วนหนึ่งละทิ้งของเก่า ไปให้ความสำคัญกับสิ่งใหม่ ละทิ้งต้นทุนของตนเอง

ความหลากหลายของความรู้ ภายใต้ฐานความคิดที่ว่า ทุกอย่างไม่ได้สมบูรณ์ในตัวเอง ต้องพึ่งพาความหลากหลาย และ เติมเต็มซึ่งกันและกัน ประเด็นนี้เชื่อมไปยังศาสตร์การเรียนรู้ที่เป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญา กับองค์ความรู้สมัยใหม่ ที่ต้องเติมเต็มกันและกัน เป็น ภูมิปัญญาไทยที่อิงวิชาการ เป็นทางรอดหนึ่งของการสืบทอดความรู้ (พ่อเสถียร) แต่การที่ครูภูมิปัญญาไทยจะนำเสนอความรู้ภูมิปัญญาโดยอิงงานวิชาการและทฤษฏี เหมือนนักวิชาการกระแสหลักนั้น เป็นเรื่องยาก อาจทำได้ในครูภูมิปัญญาบางท่านเท่านั้นเอง

“ถามว่าผมตายสักกี่ชาติ จะวาดรูปได้เทียบชั้น ไมเคิล เองเจลโล” 

ครูรุ่งโรจน์ กล่าวในวงสนทนา นัยยะของประโยคนี้ครูรุ่งโรจน์กำลังจะบอกว่า องค์ความรู้ที่เป็นความรู้แฝง(Tacit Knowledge)นั้นยากที่จะนำไปเปรียบเทียบผ่านมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง แต่เป็นความเฉพาะของบุคคลๆหนึ่ง ดังนั้นองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบหรือ อิงงานวิชาการจนเกินไป จนสูญเสียคุณค่าของงานที่รังสรรค์ผ่านประสบการณ์จนเป็นภูมิปัญญา


          รูปแบบการจัดการความรู้ ที่น่าสนใจของพ่อครูภูมิปัญญาไทยล้านนา ออกเป็นเป็นโมเดลได้ดังนี้


ภาพที่ ๑ ภาพจำลองโมเดลการจัดการความรู้
โดยโมเดลนี้สามารถอธิบายได้ถึงกระบวนการการจัดการความรู้ ที่ทำให้ดู ให้เห็น (หัน)เป็นตัวอย่าง หรือ แสดงให้ดู เพื่อสร้างความต้องการในการเรียนรู้ (เฮียน) เมื่อเรียนไปจะเกิดความชอบ หลงใหล(หู๋ม)เกิดแรงบันดาลใจและกลายเป็นความรัก (ฮัก) ในที่สุด ความรักจะกลายเป็น “จิตวิญญาณ” ของคนหนึ่งคนในที่สุด
การเกิดของความรู้ เป็นปรากฏการณ์ "เรอเนสซองซ์” ที่เป็นเสมือน การเกิดใหม่ ซึ่งเป็นการระลึกถึงศิลปะ ซึ่งเคยรุ่งเรืองให้กลับมาอีก กระบวนการเกิดใหม่ เป็นการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม (Cultural Reproduction) และเป็นการจัดการความรู้ที่เป็นวงจรธรรมชาติของความรู้

รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ของครูภูมิปัญญา โดยมีตัวของครูภูมิปัญญาเป็น “ทางผ่านของความรู้” กระบวนการถ่ายทอดความรู้ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบของการเข้ามาเรียนรู้ของผู้ที่สนใจ และเกิดจากการเข้ามาศึกษาดูงานของกลุ่มต่างๆ การไปถ่ายทอดความรู้ในศูนย์การเรียนรู้ที่จัดไว้ ตลอดจนการเข้าไปสอนในหลักสูตรท้องถิ่น ในสถาบันต่างๆตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา สำหรับพื้นที่ในการถ่ายทอดความรู้ ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญเพราะพื้นที่สัมพันธ์กับขนาดของผู้รับการถ่ายทอด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นพื้นที่ส่วนตัว จะเป็นลักษณะของการศึกษาดูงาน หรือผู้สนใจที่เข้ามารับการเรียนรู้ และหากเป็นสถาบันก็มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
พื้นที่ที่น่าสนใจและส่งผลต่อปริมาณการถ่ายทอดความรู้คือ “พื้นที่สาธารณะ” ที่ใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงผลงานภูมิปัญญา ถือว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านการชม จึงมีการสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ๆที่มีพื้นที่ในการนำเสนอตัวตนของงานภูมิปัญญา
พื้นที่ที่น่าสนใจและสมคุณค่าของภูมิปัญญาคือ “วัด” ในอดีตใช้ “ข่วงวัด” เป็นพื้นที่การเรียนรู้ การปะทะสังสรรค์ของผู้คนในวัดภายใต้บรรยากาศแห่งความศรัทธา ความเอื้ออาทรจะร้อยรัดผู้คนให้เปิดใจรับความรู้ และเป็นบรรยากาศแห่งความดีงาม การเรียนรู้จะเป็นการเรียนรู้เชิงบวกและมีพลัง
ทางเลือก และทางรอดในการสืบสาน สังคายนาภูมิปัญญาในสถานการณ์ปัจจุบัน

มุมมองของการสนทนาให้ความสนใจในการแสดง “อัตลักษณ์” ของตนเองของครูภูมิปัญญาไทยสู่สังคม ครูภูมิปัญญาไทยมองว่า “พื้นที่สื่อหลัก” น่าจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำเสนอตัวตนและคุณค่าของครูภูมิปัญญาเพื่อให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้าง เชื่อว่าการสื่อสารผ่านสื่อหลักจะมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้คนเกิดการยอมรับและสนใจ ภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง
การเข้าถึงข้อมูลครูภูมิปัญญา เป็นประเด็นสำคัญที่เสริมให้สื่อกระแสหลักเข้าถึงข้อมูลครูภูมิปัญญา ดังนั้นการจัดทำฐานข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เห็นแผนที่ภูมิปัญญาที่ชัดเจน เข้าถึงได้ง่ายจากเครือข่ายออนไลน์ น่าจะเป็นเส้นทางลัดในการเปิดโลกภูมิปัญญา
องค์กรที่เข้ามาสนับสนุน มีส่วนสำคัญในการผลักดัน ในการสร้างพื้นที่ให้กับครูภูมิปัญญา ซึ่งปัจจุบันมีสภาการศึกษา ที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีสมาคมครูภูมิปัญญาที่พยายามจัดตั้งขึ้นเองจากการคัดเลือกตัวแทนที่ยังไม่เป็นรูปร่างมากนัก มีความคาดหวังว่าในอนาคตจะมีสถาบันภูมิปัญญาที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาระบบการจัดการความรู้และ กลุ่มครูภูมิปัญญาอย่างแท้จริง
เครือข่ายครูภูมิปัญญาที่ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันในเครือข่าย ตลอดจนเกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในเครือข่าย
มีการผลักดันองค์ความรู้ครูภูมิปัญญาเข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งในระบบการศึกษา และนอกระบบการศึกษา ในการถ่ายทอดต้องมีรูปแบบองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่อิงฐานงานวิชาการ และมีแผนงานครูภูมิปัญญาที่เป็นรูปธรรม และมีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการอย่างเพียงพอ
เพื่อการคงอยู่ของภูมิปัญญา ต้องมีการค้นหาทายาทเพื่อสืบทอด และหาช่องทาง กลวิธีให้กับผู้คนที่ไม่ได้ละทิ้งภูมิปัญญาแต่ไม่รู้ว่าจะเข้าถึงภูมิปัญญาพร้อมกับใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญานั้นๆได้อย่างไร

พันธกิจของชีวิต ที่เป็นเหมือนหมุดหมายของปลายทางครูภูมิปัญญา
ความตั้งใจของครูภูมิปัญญาที่มองภาพอนาคตที่ไม่ไกลมากนัก เป็นเหมือนเป้าหมายที่ครูภูมิปัญญาเองต้องทำภารกิจเพื่อให้ถึงจุดนั้น พ่อครูอานนท์ สล่ากลองล้านนา ให้ความสำคัญในการสืบทอดภูมิปัญญา สร้างทายาทในสิ่งที่พ่อครูเพียรทำ และพ่อครูรุ่งโรจน์ คิดถึงการดึงรั้งให้ผู้คนหันกลับไปทบทวนต้นทุนทางสังคมของตนเอง และหวนรำลึกถึงอดีต รื้อฟื้นองค์ความรู้เหล่านั้น  “ขอให้มีชีวิตอยู่เพื่อพัฒนาความเชื่อของตนเองในการที่จะสืบสานงานศิลป์บนพื้นฐานศาสนา” พ่อครูรุ่งโรจน์บอกเป้าหมายและความคาดหวัง สุดท้ายพ่อครูรุ่งโรจน์ มองถึงภาพตนเองที่เป็น “สล่าโบราณอยู่ที่บ้านสร้างงาน”  ที่ครูมองว่าเป็นความสุขสุดท้ายที่อิ่มเต็มทางจิตวิญญาณของครูภูมิปัญญา

----------------------------------------------------------------------------------

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
เวทีถอดบทเรียนศักยภาพการจัดการความรู้ครูภูมิปัญญาไทยสู่สากล
โรงเเรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ 
๔-๕ สค.๕๕

ไม่มีความคิดเห็น: