วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

เวทีครูภูมิปัญญาไทยภาคใต้ : ข้อเสนอเเนะเชิงนโยบายในการจัดการความรู้สู่สากล

เรื่องเดิม : เวทีครูภูมิปัญญาไทยภาคเหนือ
 
เวทีการจัดการความรู้ภูมิปัญญาไทยสู่สากล ที่ภาคใต้ถือว่าเป็นเวทีครั้งที่ ๒ ที่จัดขึ้นในส่วนของระดับภูมิภาค หลังจากที่จัดขึ้นครั้งแรกที่ จ.เชียงใหม่ โดยมี สภาการศึกษา และ สถาบันสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบกระบวนการทั้งหมด
 
บทเรียนของคนทำงาน ของทีมงานวิทยากรจากเวทีแรก เรานำมาพูดคุยกันในการเตรียมตัวการทำงานในครั้งนี้ค่อนข้างจะรัดกุม กระชับมากขึ้น รวมถึงการลดเวลาในการทำกระบวนการเรียนรู้ลงมาเหลือเพียง ๑ วัน แต่ต้องมุ่งเป้าการพูดคุยให้ชัดมากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการความรู้ของครูภูมิปัญญาไทยสู่สากลในระดับประเทศ
 
ครั้งนี้ผมให้ทีมงานเตรียมข้อมูล ของครูภูมิปัญญาไทย ที่เราได้เชิญมาในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นข้อมูลจากสภาการศึกษาที่มีประวัติ รายละเอียด ของครูทั้งหมดของภาคใต้ มาให้ทีมงานวิทยากรได้รู้จักท่านก่อนเป็นพื้นฐาน และ เป็นการเตรียมพร้อมก่อนนำวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านโครงสร้างคำถามที่เราได้ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เป้าหมายท้ายสุดผ่านคำตอบของคำถามคือ ครูภูมิปัญญาจะต้องปรับตัวอย่างไร กับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และวิธีคิด กระบวนการ น่าจะเป็นอย่างไร แล้วการขอรับการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนั้นมีในรูปแบบไหนบ้าง?
ข้อมูลจากสภาการศึกษา เรามีครูภูมิปัญญาไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว (จากรุ่นที่ ๑ – รุ่น ๗) ๙ ด้าน ได้แก่
ครูภูมิปัญญาไทย
โดยครูทั้งหมดกระจายไปทั่วประเทศ  เราจึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ๔ ภาค เริ่มที่ภาคเหนือเวทีแรก ไปภาคใต้เวทีที่ ๒ จากนั้นจะมีเวทีที่ภาคอีสาน ๒ เวที (อีสานเหนือ – อีสานใต้)
ที่ภาคใต้ เราจัดเมื่อวันที่ ๘ กันยายนที่ผ่าน จัดขึ้นที่ โรงแรมโกลเด้นท์คราว หาดใหญ่ ครั้งนี้ได้น้องๆคนทำงานจาก มอ. มาช่วยเป็นทีมงานวิทยากรกระบวนการด้วย ข้อดีก็คือ สามารถใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาใต้) ในการสื่อสารนั่นเอง ทำให้วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีสีสันสนุกสนานมากขึ้นไปด้วย


ในวันดังกล่าวผมได้เป็น Facilitator ของกลุ่ม “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” กลุ่มนี้ถือว่า เป็นกลุ่มคนทำงานที่เข้มแข็งมากพอสมควรในภาคใต้ และมีประเด็นที่น่าสนใจในการขับเคลื่อนการทำงาน ผ่านครูภูมิปัญญา วงพูดคุยของเราคุยกันแบบโต๊ะกลม ง่ายๆและพูดคุยอย่างออกรส
ข้อสรุปในการพูดคุยของกลุ่ม น่าสนใจมากทีเดียว ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่น่าสนใจ ดังนี้ครับ

  1. การผดุงเกียรติ ศักดิ์ศรีของ “ครู” ในที่นี่คือ ครูภูมิปัญญาไทย การผดุงเกียรติและศักดิ์ศรี จึงหมายถึงการให้พื้นที่ในการยกย่อง เชิดชู ตามสมควร รวมไปถึงมีการสนับสนุนด้านต่างๆให้ครูภูมิปัญญาไทยได้ใช้ศักยภาพและผลิตภาพ (Productivity) ของครูได้เต็มศักยภาพ
  2. ฐานข้อมูลระบบข้อมูลสารสนเทศที่สามารถเข้าถึงง่าย และทันสมัย   สามารถนำไปใช้ได้ง่าย รวมถึงมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
  3. บทบาทครู ที่เป็น “ช่างเชื่อม” หรือ เป็น Facilitator นอกจากการที่ครูจะเป็นต้นแบบให้กับสังคม และ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้คนในสังคมแล้ว การเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ ศรัทธา ครูจะทำหน้าที่ผู้จัดการความขัดแย้งและไกล่เกลี่ยในสังคม  รวมไปถึง การเชื่อมต่อไปยังผู้ที่มีความสามารถด้านอื่นๆในชุมชน (ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนครู) แต่ท่านเหล่านั้นมีความสามารถและมีศักยภาพที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพัฒนาสังคมร่วมกันได้
  4. กระบวนการสร้างการเรียนรู้ เนื่องด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กระบวนการเรียนรู้แบบเดิมอาจไม่มีพลังพอในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ รวมถึงการที่ครูต้องทำความเข้าใจกับผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การสร้างกระบวนการเรียนรู้จึงต้องปรับให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีความเป็นบูรณาการ เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ “สอนน้อย เรียนให้มาก”
  5. การจัดการความรู้ (knowledge management )ใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างความเข้มแข็งของการสร้างความรู้ การพัฒนาสังคมและชุมชน อย่างมีพลัง สิ่งสำคัญนอกจากการใช้ KM ในการขับเคลื่อนพัฒนาแล้ว วิธีการถอดบทเรียน เป็นวิธีการหนึ่งในการ “เหลียวหลัง แลหน้า” ทบทวนบทเรียนที่เกิดขึ้น สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ เพื่อก้าวย่างต่ออย่างมีพลัง
  6. ระบบการจัดการเรียนการสอนกระแสหลัก หมายถึง ระบบการจัดการเรียนการสอนในระบบ ที่ครูภูมิปัญญาไทยเป็นครูที่ใช้หลักสูตรท้องถิ่นเป็น หลักสูตร เชื่อมต่อ ถ่ายทอดความรู้ไปสู่เยาวชนรุ่นหลังที่เป็นผู้เรียน มีความพยายามในการจัดระบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนสมัยใหม่ แต่อาจต้องเน้นการปฏิบัติเพื่อให้เห็นจริง  ปัญหาที่นำมาคุยกันในวงเรียนรู้อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ “การยอมรับการมีตัวตน” ของครูภูมิปัญญาไทย ของครูที่อยู่ในระบบ และเอื้อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพหลังจากนั้น นอกจากนั้นระบบการเรียนรู้ดังกล่าว จำเป็นต้องมีการพัฒนาการถ่ายทอดที่หลากหลายและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย มีการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นพื้นที่การสร้างความรู้ ถ่ายทอดความรู้ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ พัฒนาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของครูภูมิปัญญาไทยอย่างเป็นระบบ ศูนย์ฯ จะต้องดำรงฐานะเป็นสถาบัน มีการสนับสนุนที่เหมาะสมจากภาครัฐ
  7. สร้างความเข้มแข็งผ่านเครือข่ายครูภูมิปัญญา  ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอเพื่อการคงอยู่และพัฒนา ครูภูมิปัญญาไทย เครือข่ายจะเป็นเครื่องมือ ในเรื่อง การพัฒนาการเรียนรู้ เครือข่ายการจัดการ พิทักษ์สิทธิประโยชน์ของครูภูมิปัญญา มีกระบวนการเรียนรู้ที่เข้มแข็งและมีพลังผ่าน ระบบการจัดการความรู้ของเครือข่าย ยกตัวอย่าง กรณีภาคใค้มี เครือข่าย “เกลอย่าน” ที่สานพลังอยู่เดิม  เมื่อเราสามารถผนวกเอาเครือข่ายเดิมเราจะสามารถเติมความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นผ่านต้นทุนเดิมที่เครือข่ายมีอยู่
  8. ทำงานอิงระบบ ไม่ถูกครอบงำ – การทำงานร่วมกับภาครัฐแบบอิงระบบ หมายถึง การทำงานที่เอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน ไม่ครอบงำ บังคับทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง รัฐมีหน้าที่สนับสนุนระบบให้เติบโตตามศักยภาพ ในรูปแบบการสนับสนุนงบประมาณ,วิชาการ.เทคนิคใหม่ๆในการถ่ายทอดความรู้ และการสร้างพื้นที่ให้กับครุภูมิปัญญาไทยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่วนกลุ่มครูภูมิปัญญามีบทบาทในการพัฒนาสังคมผ่านผลิตภาพของครูภูมิปัญญาที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
  9. ระบบพิทักษ์สิทธิ ผลผลิต-ผลิตภัณฑ์ความรู้  ของครูภูมิปัญญาไทย ประเด็นนี้พูดคุยกันมากในวงแลกเปลี่ยน  เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผดุงสิทธิตามกฎหมาย ปกป้องการถูกเอาเปรียบทางลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ความรู้ ภาครัฐที่รับผิดชอบต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแล รวมไปถึงมีมาตรการปกป้องสิทธิดังกล่าว
ทั้งหมดเป็นข้อเสนอแนะในวง “แตะออ” (วงน้ำชา) ในวันนั้น โดยผมสรุปจากการพูดคุยมาเป็นประเด็นเพื่อเตรียมเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ผมจะสังเคราะห์ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อจัดกระบวนการครบ ๔ ภาค  ยังมีบทสรุปของวิทยากรกระบวนการท่านอื่นๆที่รับผิดชอบ ด้านต่างๆ ที่ยังไม่ได้นำเสนอในที่นี้ครับ ติดตามกันต่อครับ
 
ครูชบ ยอดแก้ว ครูภูมิปัญญาไทยภาคใต้


จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
๑๒/๐๙/๒๕๕๕

โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการองค์ความรู้ครูภูมิปัญญาไทยสู่สากล
สภาพการศึกษา และ ศูนย์ศึกษาการจัดการการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ ,สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์                                                                           


“โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการองค์ความรู้ครูภูมิปัญญาไทยสู่สากล” ขึ้น 
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดองค์ความรู้ของครูภูมิปัญญาไทย 
รวมทั้งการเสริมสร้างความเชื่อมั่นเชิงทักษะกระบวนการและทางวิชาการของ  ครูภูมิปัญญาไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น 
โดยศึกษาเชิงลึกและเก็บข้อมูลจากครูภูมิปัญญาไทยทั้ง 7 รุ่น จำนวน 406 คนจากทุกภูมิภาคของประเทศ"

ไม่มีความคิดเห็น: