วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ถอดบทเรียนสู่การเขียนเพื่อการสื่อสาร (๑) ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย

ถอดบทเรียนสู่การเขียนเพื่อการสื่อสาร (๑)

ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย


ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทยได้ติดต่อมาให้ช่วยทำ Workshop ให้กับแกนนำพยาบาลชุมชนที่ทำงานในพื้นที่ ในประเด็น “การถอดบทเรียน” และ “การเขียนเพื่อสื่อสารจัดการความรู้” เบื้องต้นโจทย์แบบนี้ก็เป็นประเด็นความต้องการเริ่มต้นในการออกแบบกระบวนการ คือ จะถอดบทเรียนอย่างไร? หลังจากนั้นจะเขียนอย่างไร? สองประเด็นนี้สำคัญเพราะหลายคนทำกระบวนการถอดบทเรียนได้ แต่เขียนสื่อสารไม่เป็นบทเรียนที่ดีจึงไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่

กระบวนการในเวทีถูกออกแบบแยกออกเป็น ๒ ส่วนคือ  
  • ส่วนของ “การถอดบทเรียน” (วิธีคิด เทคนิค วิธีการ ตลอดจนการฝึกทักษะ)  ส่วนนี้แน่นอนว่าการเรียนรู้ทฤษฏีแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถลงลึกในการถอดบทเรียนได้ ดังนั้นอาจต้องมีการฝึกปฏิบัติการถอดบทเรียนเพื่อเสริมความมั่นใจ
  • ส่วนที่สองคือ “การเขียน” ครั้งนี้มีทีมนักเขียนรุ่นใหม่ที่มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับชมรมพยาบาลด้วย คือ คุณบัส ศรัทธา ลาภวัฒนเจริญ เป็นนักเขียนรางวัลแว่นแก้ว อีกทั้งคุณบัสยังเปิดโรงเรียนนักเขียน อีกด้วย ประสบการณ์การฝึกเขียน จึงเป็นภารกิจหลักๆของคุณศรัทธาใน Workshop นี้ต่อจากการถอดบทเรียน มีน้องนักเขียนอีกกลุ่มที่มาจากสำนักพิมพ์ปิ่นโต พับลิชชิ่ง นำโดยคุณวรเชษฐ์ เขียวจันทร์ และคณะมาช่วยเสริมทัพ ช่วยในกระบวนการเรียนรู้ มีสีสันมาเป็นทีมใหญ่เลยทีเดียว

เพื่อให้การ Workshop เป็นไปด้วยความสนุกสนาน ทางทีมวิทยากรได้เติม การเรียนรู้ “ร้องและเต้น” โดยครูเก๋ ณ หทัย บัวแย้ม หนึ่งในทีมวิทยากร ที่มากด้วยความสามารถในการสอนเต้น และร้องเพลง เป็น Workshop สำหรับภาคกลางคืน

สามวันสองคืนที่อัมพวา กับผู้เข้าร่วม Workshop กว่า ๕๐ คน บรรยากาศ เป็นไปด้วยความสุข เบื้องต้นก็คือกลุ่มคนทำงานกลุ่มดังกล่าวมีความคุ้นเคยกันในเบื้องต้นอยู่ แล้ว ดังนั้นการออกแบบกิจกรรม จึงเป็นไปด้วยความราบรื่น จุดไปติดก็เดินต่อได้เลย
-------------------------------------

ถอดบทเรียน??

 (ผมขอถอดประสบการณ์ในการทำ Workshop ในวันดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังครับ)
การถอดบทเรียน  ผมนำเสนอเป็นชุดความรู้ ประสบการณ์ผ่านตัววิทยากร คือตัวผมเอง และ เสนอโดยการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมจากประสบการณ์เดิมที่กลุ่มมีอยู่ พบว่า คนทำงานกลุ่มนี้มีทักษะ การถอดบทเรียนอยู่แล้วระดับหนึ่ง (จากประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรม ตามแนวทางการสร้างความรู้ต่างๆ) ดังนั้นเรื่องวิธีวิทยาการถอดบทเรียน จึงไม่ใช่ประเด็น เพียงแต่มารื้อฟื้นกระบวนการให้เห็น รวมไปถึงข้อจำกัดบางอย่างในการทำเวทีถอดบทเรียน


ถอดบทเรียน ทำได้ง่ายๆ แต่หากไม่ลงลึกและรอบด้านเพียงพอก็ได้เพียงปรากฏการณ์ที่เป็นเปลือกนอก ถือว่าเป็นบทเรียนที่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่เป็น “บทเรียน” สักเท่าไหร่ 
ดังนั้นการถอดบทเรียน นอกจากมีเป้าหมายในการได้บทเรียนแล้ว ลึกไปกว่านั้น คือการได้    “ชุดความรู้” ชุดหนึ่ง ที่มีคุณค่าจากการสรุปแบบบูรณาการ ที่ประกอบด้วยมุมมอง วิธีคิด ไปจนถึงปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากมุมมอง วิธีคิดเหล่านั้น อาจกล่าวได้ว่า Right View,Right Concept ถึงจะเกิด Right Action และได้ชุดความรู้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่จะเป็นข้อมูลต้นทุนในการสร้างสรรค์ งานอย่างต่อเนื่องและเกิด ความเข้าใจ (Comprehension) ก่อเกิดวิธีคิดใหม่ มุมมองใหม่ๆ การถอดความรู้ที่ได้เพียงประสบการณ์ผิวเผินในมุมมองของวิทยากรกระบวนการแต่ เพียงอย่างเดียว อาจไม่มีพลังเพียงพอที่จะกะเทาะความจริงที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังได้ ความสำคัญและความประณีตของ “การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม” ที่ได้มาซึ่งบทเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงผู้ที่ทำหน้าที่ถอดบทเรียนที่เรียกว่า “วิทยากรกระบวนการ” หรือ Facilitator” และ ผู้เข้าร่วมเวที (Participants)ในกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมด้วย

เริ่มต้น...ถอดบทเรียน 

การถอดบทเรียนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ สิ่งที่สำคัญและส่งผลต่อการได้มาซึ่ง “บทเรียน” ที่ดี ก็คือ การเตรียมกระบวนการ การเริ่มต้นและการเตรียมการที่ดีทำให้การถอดบทเรียนประสบความสำเร็จแล้วกว่าครึ่ง

องค์ประกอบของผู้เข้าร่วมถอดบทเรียน

            องค์ประกอบนี้สำคัญมาก เพราะผู้เข้าร่วมถอดบทเรียนล้วนแต่เป็น “คนต้นเรื่อง” ที่มีประสบการณ์การทำงานด้านนั้นตลอดทั้งกระบวนการ โดยเฉพาะนักปฏิบัติที่คลุกคลีกับการงาน ประเด็นไม่ว่าจะมีส่วนร่วมในระดับใดก็ตาม หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมเวทีถอดบทเรียน จึงต้องให้ความสำคัญหากผู้เข้าร่วมถอดบทเรียนไม่ใช่ “ตัวจริงเสียงจริง” ส่งผลให้การถอดบทเรียนก็ไม่สามารถได้ข้อมูลที่แท้จริง รวมไปถึงการเจาะประเด็นเชิงลึกได้  จำนวนผู้เข้าร่วมจะอยู่ที่ประมาณ ๖ – ๑๐ คน ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป หากจำนวนคนน้อยอาจได้บทเรียนที่ไม่ค่อยครอบคลุม แต่หากจำนวนคนมากไปส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ที่ดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างทั่วถึง ยกเว้นในกรณีการถอดบทเรียนที่เป็นการถอดบทเรียนเชิงลึก ถอดบทเรียนบุคคลที่จำเพาะเจาะจงมาแล้ว กรณีนี้จะเหมือนการทำกรณีศึกษา ในงานวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มีผู้ถอดบทเรียนและผู้ทำการถอดบทเรียนเท่านั้น

องค์ประกอบด้านกลไกการเรียนรู้

การถอดบทเรียนเป็น “กระบวนการ” ที่ประกอบด้วยวิธีวิทยาชุดหนึ่ง กลไกสำคัญหนึ่งคือ วิทยากรกระบวนการ หรือ Facilitator จะ ทำหน้าที่เป็นผู้ที่คอยกระตุ้น สร้างบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนทัศนะ ข้อมูล อย่างบูรณาการ โดย Facilitator เองก็ต้องมีทักษะในการเป็นวิทยากรกระบวนการ (อ่านได้ในบทที่ ) ผสมเกสรด้านความคิด ผลิดอกออกผลในวงสนทนาเป็นองค์ความรู้ใหม่ ชุดบทเรียนใหม่ ตลอดจนมุมมองและทางเลือกใหม่ ผ่านการประมวลความคิด (Conceptualize) สรุป วิเคราะห์  สังเคราะห์ให้เกิด “บทเรียน” คลี่คลาย กระจ่างชัดในประสบการณ์ที่มีร่วมกัน
สำหรับการถอดบทเรียนคุณสมบัติเพิ่มเติมสำหรับวิทยากรกระบวนการก็คือ ต้อง เป็นผู้มีความรู้เชิงลึกและกว้างในประเด็นที่จะถอดบทเรียนพอสมควร เพราะชุดความรู้เริ่มต้นของ Facilitator จะเป็นต้นทุนในการตั้งคำถาม ต่อยอดคำถาม รวมไปถึงการนำเสนอมุมมอง ทัศนะที่หลากหลาย เพื่อเอื้อให้ผู้คนในวงเรียนรู้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเต็มที่และมี คุณภาพ ดังนั้นการเตรียมตัวของวิทยากรกระบวนการจำเป็นต้องศึกษาบริบทของงานเชิง ประเด็นให้ถ่องแท้ อีกส่วนหนึ่งก็คือข้อมูลของผู้เข้าร่วมวงเรียนรู้ ต้องเรียนรู้เบื้องหลัง พื้นฐานจุดแข็ง และข้อจำกัดของผู้เข้าร่วมวงเรียนรู้ จะช่วยทำให้การสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวิทยากรกระบวนการเป็น ไปด้วยความราบรื่นและเกิดผลสำเร็จ


ในหนังสือ “ถอดบทเรียน (นอกกรอบ)” ที่ผมเคยเขียนไว้เป็นหนังสือที่ถอดประสบการณ์การทำงานของตัวเองมาเป็นกรณีตัวอย่าง “คนถอดบทเรียน” มีคุณสมบัติอย่างไร? (ในที่นี้หมายถึง Facilitator หรือ วิทยากรกระบวนการ)


กระบวนการถอดบทเรียน ไม่ได้เจาะจงในการเลือกใช้เครื่องมือ หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่การถอดบทเรียนขึ้นอยู่กับ “โจทย์” และ “กลุ่มเป้าหมาย”  สองสิ่งนี่เองที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะใช้กระบวนการถอดบทเรียนอย่างไร? แต่อย่างไรก็ตามเราก็สามารถยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนตลอดเวลานะครับ ถ้าพอว่าวิธีการที่เราใช้นั้นไม่เวิร์กเอาซะเลย ดูฝืดๆฝืนๆ ก็ลองปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ๆ ก็ไม่ผิดกติกาใดๆทั้งสิ้น
ผมเคยทราบมาและบางทีผมก็ใช้วิธีการ “ถอดบทเรียนที่ไร้กรอบ”  ที่บอกว่าไร้กรอบคือ ไม่ได้แสดงตัวว่าผมหรือผู้ที่ทำหน้าถอดบทเรียนกำลังปฏิบัติการ  “ถอดบทเรียน” อยู่ทำให้เนียน ทำให้เป็นธรรมชาติ แต่ภายใต้ความเป็นธรรมดานั้น นักถอดบทเรียนกำลังใช้วิธีการถอดบทเรียนอยู่เงียบๆ เช่น วิธีการสังเกต,การจับ ประเด็นการพูดคุย,การซักถามทุกข์ สุกดิบ หรือบางครั้งก็ลงไปสัมภาษณ์พูดคุยในประเด็นที่เราสนใจเมื่อมีประเด็นที่น่า สนใจ เราก็ลงลึกในประเด็นเหล่านั้นทันที  แต่ทุกอย่างเป็นไปแบบธรรมชาติ ในบรรยากาศกัลยาณมิตร


เห็นไหมครับว่า...  “การถอดบทเรียนที่ดี”  ควรจะทำให้ เนียนกับวิธีชีวิต  ข้อมูลที่เราได้ก็จะเป็น ข้อเท็จจริง ที่หายากมากในวงสนทนาสาธารณะทั่วไป วิธีการนี้ทำได้ดีแบบคนต่อคน หรือกลุ่มเล็กๆ ที่เราคุ้นเคยระดับหนึ่งมาแล้ว ความสำเร็จในการถอดบทเรียนแบบไม่เป็นทางการนี้ อยู่ที่เราสามารถทลายความเป็นคนแปลกหน้า เราสามารถทลายความหวาดระแวง กระชับความสัมพันธ์นำไปสู่การไว้ใจ และเปิดใจในที่สุด แล้วทุกอย่างก็ไปได้ดี


“การถอดบทเรียน”  เป็นกระบวนการหนึ่งที่อยู่ภายใต้ “การจัดการความรู้” (Knowledge management) ดังนั้นความรู้ที่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบสามารถนำไปใช้ได้ ก็หมายถึงเราก็ได้บทเรียนพร้อมใช้ไปด้วย ความรู้และบทเรียน คือสิ่งเดียวกัน


เราทราบกันดีว่าความรู้มีสองชนิด ความรู้ภายนอก (Explicit knowledge) ที่เป็นความรู้หาได้จากตำรา ทฤษฏี งานเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร เราสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ พร้อมใช้ได้ในทันที การจัดการความรู้ประเภทนี้ไม่ค่อยท้าทายความสามารถเท่าไหร่ครับ แต่ความรู้ประเภทหลังที่ผมจะพูดถึงนี่สิครับ ท้าทายมาก


สำหรับนักถอดบทเรียน นักจัดการความรู้ ความรู้ที่บอกว่าท้าทายคือ “ความรู้ฝังลึก” (Tacit knowledge)ครับ ...ยากมากสำหรับการดึงความรู้เหล่านี้ออกมา เพราะนักถอดบทเรียนไม่ได้มีทักษะ ที่แกร่งศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมีศิลปะด้วย 


>
>
>
บรรยากาศทีมงาน


ติดตามตอนต่อไปครับ ....

แล้วเราจะทำกระบวนการถอดบทเรียนกันอย่างไร?

1 ความคิดเห็น:

Jatuporn กล่าวว่า...

แก้ไขครับ เราจัดผ่านมาเเล้ว ในวันที่ ๒๐ - ๒๓ พค.๕๔ ที่ผ่านมาครับ