วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เก็บเบี้ยรายทางการเรียนรู้จากเวที "เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาครู Facilitator"


เก็บเบี้ยรายทางการเรียนรู้จากเวที "เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาครู Facilitator"

 บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน)




จากการที่ได้เข้าร่วมงาน เวที "เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาครู Facilitator" ที่บ้านเรียนสมดุลชีวิต ของอาจารย์นุเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2555ผ่านมา โดยงานนี้มีที่มาที่ไปจากการนำของอ. จตุพร  วิศิษฎ์โชติอังกูร (อ.เอก) ตามรายละเอียดของ Link นี้ (นับถอยหลังเวที "เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาครู Facilitator")
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/488592) สิ่งที่ได้มาผมมีความรู้สึกว่าเกิดความปิติอิ่มเอมใจเป็นมาก ที่ได้พบกัลยาณมิตรหัวใจเดียวกัน งานนี้เพิ่งได้พบหน้าค่าตากันครั้งนี้เป็นครั้งแรกทั้งๆ ที่เราก็ได้คุยกันผ่านโลก Online กันมานานทีเดียว


 เนื้อหาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้อัดแน่นเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แต่ละคนมีความยินดีที่จะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเต็มที่  หลังจากที่กลับมาผมคิดว่าจะเขียนอะไรที่เกี่ยวกับงานนี้ซักหน่อยตามการแนะนำ กึ่งร้องขอ (บังคับ) ของ ท่านอ. เอก แต่พอมาเริ่มเขียนจริงกลับเกิดความประหม่าไม่อยากจะเขียนเอาซะงั้น เพราะคิดว่าเนื้อหาที่ได้แลกเปลี่ยนกัน หลายท่านที่อยู่ในงานคงได้สรุปไว้แล้วหลายคน เดี๋ยวจะซ้ำกันซะเปล่า  ดังนั้นผมขออนุญาตแบ่งปันเฉพาะเครื่องเคียงความรู้หลักจากบรรยากาศในงานอีก มุมมองหนึ่งก็แล้วกันและอาจจะมีการเชื่อมโยงนอกเรื่องไปบ้างนะครับ


 

เริ่มต้นด้วยการเดินทางเข้าสู่บ้านเรียนสมดุลชีวิตของอ.นุ ตอนแรกตั้งใจจะเอาน้ำหมักไป Surprize แจก แต่พอขนของลงรถเท่านั้นแหละครับ อ.เอก ก็ ถามออกมาว่า “ใช่น้ำหมักรึเปล่า” ผมอึ้งเลยครับ รู้ได้ไงเนี่ย สงสัยดูจาก Blog ของผมที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้แน่เลย (จุดประกายเชื่อมโยงความรู้สู่ความรู้ด้วยยุทธศาสตร์น้ำหมักจุลินทรีย์ ชีวภาพ :
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/488927) พอเดินเข้าไปลงทะเบียนได้ยินเสียงเพลงคุ้นๆ ที่แท้ก็เป็นเพลงเพื่อฝึกการเจริญสติ ตามแนวทางของหมู่บ้านพลัมนั่นเอง (PLUM BLOSSUMS) พอดีผมก็มีอยู่ชุดหนึ่งได้จากร้านหนังสือ Se-Ed เมื่อหลายเดือนก่อน เป็นเพลงที่ใช้สำหรับการนำเข้าสู่การเปิดใจการเรียนรู้ได้ดีมากๆ



เข้าไปในห้องทำกิจกรรมก็เป็นบรรยากาศอย่างที่นึกไว้เลยครับ ได้เห็นหน้าค่าตาของเหล่ากัลยาณมิตรทาง GTK/FB ที่เคย  “เมนต์” กันมาแต่พอเจอตัวจริงก็รู้เขินๆ ยังไงก็ไม่รู้  มีช่วงหนึ่งที่ได้พูดคุยทักทายกับ อ.เอก ก่อนที่จะขึ้นเวทีอย่างเป็นทางการได้การเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องการพัฒาบุ คลากรมาตัวหนึ่งซึ่ง อ.เอกบอกว่า หลักการ FA ก็คือ HRD นั่นเอง ทำให้ผมนึกถึงหนังสือ “HRD3.0 พัฒนาคน พัฒนาใจ เติมหัวใจให้องค์กร” ของอ.วรภัร  ภู่เจริญขึ้นมาทันใด (http://www.managerroom.com/forums/forum_posts.asp?TID=10789) เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องเดียวกันที่น่าจะเชื่อมโยงเข้ากันได้อย่างเนียนๆ




จากนั้นก็เป็นการเปิดเวทีโดย อ.เอก ด้วย VDO และการ Present ให้เราตระหนักถึง การเอาตัวรอดในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษา บทบาทหน้าที่ของครูจะเปลี่ยนไป ครูจะไม่ใช่ผู้รู้ทุกอย่างอีกต่อไป ซึ่งจะต้องปรับตัวให้เป็นคนนำทางความรู้สู่ผู้เรียนให้มากขึ้น จะไม่มีคนสอนและคนเรียนอีกต่อไป มีแต่คนเรียนรู้เท่านั้น ครูเรียนรู้จากนักเรียน นักเรียนเรียนรู้จากครู ครูและนักเรียน เรียนรู้ร่วมกันจากบริบทที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในที่นี้ Fa ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษนี้ด้วย  จากนั้นเจ้าของสถานที่ อ.นุ ก็ได้มาเล่าประวัติที่มาของบ้านหลังนี้ว่า เกิดจากการที่จะพาลูกออกจากการศึกษาในระบบมาทำระบบบ้านเรียน (Home School) และต้องมีการเตรียมสถานที่รองรับให้ครอบคลุมตามหลักสูตรการเรียนรู้  ซึ่งแต่เดิมได้ออกแบบและว่าจะทำเป็นบ้านดิน แต่ด้วยเวลาที่กดดันเข้ามาเนื่องจากต้องให้บ้านเสร็จก่อนภายในเวลา 1เดือนครึ่ง ก่อนเปิดเทอมจึงต้องเปลี่ยนแผนเป็นการสร้างด้วยไม้สักแทนแต่ก็ยังใช้แบบแปลน ของดินที่ตั้งใจแต่เดิม



หลังจากนั้น “โค้ชปุ้ย” (คุณชัยยาณัฐ อนุรัตน์) ก็ได้มาเล่าแบ่งปันประสบการณ์การ Coach ให้กับครูให้กับโรงเรียนแถบภาคตะวันออกให้ฟัง  ส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ผมจับใจความได้และเชื่อมโยงกับความรู้เดิมคือ การนำเสนองานไปยัง CEO ซึ่งโค้ชปุ้ยบอกว่างานที่ทำจะได้รับการสานต่ออย่างดีหรือไม่นั้นต้องขึ้น อยู่กับการตัดสินใจของ CEO ที่เป็น CEO Version 3.0 (CEO3.0) ผมตีความว่า CEO1.0 นั้นน่าจะเป็นคนประเภท “I in me” คือต้องฉันเท่านั้น คนอื่นๆไม่สำคัญ ส่วน CEO2.0 น่าจะเป็นคนประเภท “I in it” คือจะทำอะไรต้องขึ้นอยู่กับคนอื่นๆ หรือกฎระเบียบเก่าคร่ำครึหัวสี่เหลี่ยมทื่อๆ ตรงๆ ส่วน CEO3.0 นั้นน่าจะเป็นคนประเภท “I in you” และ ”I in mind” คือเห็นใจเข้าใจความรู้สึก ถึงอกเขา อกเรา (“I in you”) หรืออาจพัฒนาไปถึงระดับดวงตาเห็นธรรม อยู่กับปัจจุบัน อย่างเป็นธรรมชาติ “มันเป็นเช่นนั้นเอง”  (”I in mind”)


ในช่วงท้ายของคำถาม ผมรู้สึกประทับใจกับการให้แนวคิดของอ. พัฒนา แสงเรียง ที่บอกว่าการเรียนรู้และแก้ปัญหาต้องให้ครอบคลุมถึงหลัก D-I-K-W (Data-Informtion-Knowledge-Wisdom) ตามลำดับ แต่ส่วนใหญ่เราให้ความรู้โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องข้อมูลและการส่งข้อมูลจึงทำ ให้ความรู้นั้นเป็นพิษ และไม่สามารถทำให้เกิดปัญญาได้ การเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือข้อมูลและการรับฟังข้อมูลจาก Audience บางครั้งแค่การรับฟังก็แก้ปัญหาได้แล้ว ดังนั้นยุทธศาสตร์หลักที่สรุปได้ในที่นี้คือ Data นั่นเอง



ช่วงบ่ายเริ่มต้นการบรรเลงพิณแก้วจากอ. วีระพงษ์  ทวีศักดิ์ หนึ่งในเอเชีย และมีเพียง 20 คนในโลกเท่านั้นที่เล่นได้ จึงต้องเดินทางรอบโลกเพื่อเปิดการแสดง อาจารย์ใช้เสียงเพลงเป็นสื่อเพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ก่อนนำไปสู่การบ รรยาย โดย ลูกศิษย์ของอาจารย์มีมากมายแต่ที่ประทับใจเป็นพิเศษคือ ลูกศิษย์นักโทษที่อยู่ตามเรือนจำ ที่อาจารย์สามารถทำให้พวกเขาเกิดความไว้วางใจและรับฟังรับรู้ เกิดการเรียนรู้ขึ้นมาได้ อาจารย์เล่าให้ฟังว่านักโทษส่วนใหญ่ทำผิดเพราะไม่รู้ มีอยู่คนหนึ่งติดมา 8 รอบแล้ว เข้ามาถามอาจารย์หลังจากที่บรรยายเสร็จบอกว่า “ทำไมเรื่องเหล่านี้ไม่เคยมีคนมาสอนผมเลย” เพลงส่วนใหญ่ที่ใช้สำหรับการสอนนักโทษและคนทั่วไปจะใช้เพลงพระราชนิพนธ์ และเพลง Classic เพราะจะเกิดความซาบซึ้งได้ง่ายกว่า  แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องดูสังคมคนฟังด้วย ที่อาจจะมีเพลงประเภท สากล,POP ,ลูกทุ่ง สตริงบ้าง ตามความเหมาะสม
 

ต่อมา “ครูป้อม” คุณสมศักดิ์ สายแสงจันทร์ นวัตกร มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มาเล่าประสบการณ์ตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงการทำงานปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าครูป้อมคนนี้น่าทึ่งมากๆ เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มีพลังมากๆ และไม่มีท่าทีจะท้อถอยง่ายๆ งานหลายอย่างทำสำเร็จได้อย่างน่าชื่นชม หนังสือที่เกิดจากการถอดบทเรียนของครูป้อม(“อรุณสวัสดิ์...ครูฟาสร้างสุข” ) กลายเป็นหนังสือคู่มือ Tophit อีกเล่มหนึ่ง เนื้อหาหลักที่ครูป้อมนำมาแบ่งปันในวันนันก็คือ แนวทางการปฏิบัติของครูฟา 10 ประการ เนื้อหาจะเป็นอย่างไรขอให้ดูการบันทึกของท่านอื่นๆ ก็แล้วกัน แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมประทับมากคือ เจอปัญหาตรงไหนให้แก้ตรงนั้น การสอนอย่าเตรียมให้มาก ผมลองเชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่ผมมีอยู่ก็พบว่า เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้มีการเตรียม แต่ต้องฝึกให้เกิดความชำนาญจนไร้กระบวนท่า สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและปรับตัวลื่นไหลไปตามสภาวะที่เป็นอยู่ได้อย่าง เป็นธรรมชาติอย่างกลมกลืนและแนบเนียน



ท่านสุดท้ายที่มาร่วมแบ่งปันอย่างเป็นทางการคือ“ครูก๋วย” คุณพฤหัส พหลกุลบุตร จากกลุ่มละครมะขามป้อม ได้มาเล่าหลักการใช้ละครเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับบันเทิง จนถึงระดับเปลี่ยนโลกได้เลยทีเดียว เนื้อหาหลักผมเข้าใจว่าน่าจะสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา” ที่ครูก๋วยได้แจกไว้ให้พวกเราคนละเล่ม คิดว่าน่าจะกลับไปอ่านทบทวนและลองนำไปปฏิบัติดู



การทำละครเพื่อการเรียนรู้นี้ทำให้ผมนึกถึงละครเวทีเรื่องหนึ่งของกลุ่ม เด็กรักษ์ป่าสุรินทร์ ในเรื่อง “ไม้พยูงต้นเดียว” เป็นละครที่ดูสนุกมากดูแล้วเกิดการ Click อย่างที่ครูก๋วยว่าไว้จริง ๆ (http://www.thaireform.in.th/news-highlight/item/7528-2012-05-04-07-49-16.html)
http://www.youtube.com/watch?v=vCSmGB3UKy8
http://www.youtube.com/watch?v=4oj3JmXPgWg



สุดท้ายเป็นการนั่งล้อมวงกันทั้งกลุ่มเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กัน บรรยากาศตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนกับการเข้าวง Dialogue กลายๆ ที่ร่วมรับฟังเรื่องราวประสบการณ์ของแต่ละคนตามแนวทาง SSS (Success Story Sharing) ซึ่งหลังจากที่แต่ละคนได้เล่าแบ่งปันเรื่องราวจากนั้น อ. เอกก็ได้จับประเด็นสรุปไว้และนำเสนอให้พวกเราได้อย่างทันใจทันทีตามตัวอย่าง บางตอนดังนี้








บรรยากาศต่างๆ ที่เล่ามานี้มีตกหล่นขาดหายไปบ้างพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกันเนื้อหาหลักๆ อาจเป็นเพราะช่วงที่อยู่ในบรรยากาศนั้นผมไม่ได้ตั้งใจจดจ้อง Consentrate อยู่ตลอดเวลา แต่ปล่อยให้มันลื่นไหลเป็นไปอย่างธรรมชาติ (คำแก้ตัว จริงๆแล้ว ก็ฟังมั่ง หลับมั่ง) เข้าใจว่าผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมท่านอื่นๆก็คงได้เก็บเกี่ยวไว้แล้ว ซึ่งผมก็ได้ออกตัวไว้ตั้งแต่จั่วหัวเรื่องไว้แล้วว่าเป็นการเก็บเบี้ยรายทาง การเรียนรู้ บันทึกนี้ขออนุญาตส่งสาระ ก่อน ส่วนเนื้อหาค่อยว่ากันทีหลัง (รอท่านอื่นๆ แบ่งปันอีกที) ผิดพลาดประการใดก็ขออภัย ณ ที่นี้ด้วยครับ







ขอบคุณ คุณไทเลย มากครับ
ผมขออนุญาตนำมาแปะไว้ที่นี่อีกแห่งเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน


จตุพร

ไม่มีความคิดเห็น: