วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

คักอีหลีเมืองขอนแก่น : ชวนครูขอนแก่นเรียนรู้ 21st Century Skills

เวทีการเรียนรู้ 21st Century Skills ที่เมืองขอนแก่น


เป็นเวทีที่มีผู้เข้าร่วมเวทีจำนวนมาก และมีพลังมากทีเดียวครับ สำหรับ เวที การเรียนรู้ 21st Century Skills ของครูที่ขอนแก่น ที่มาเข้าร่วมกว่า 700 คน ในวันที่ 6 กันยายน  2555 ที่ผ่านมา จัดที่โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น โดยมี ผอ.ยุทธ วงศ์ศิริ ผอ.กองการศึกษาเทศบาลนครขอนแก่น เป็นผู้ประสานพลังในครั้งนี้

โดยการจัดเวทีเฉพาะกิจครั้งนี้ เราต่างก็มีสมมุติฐานคล้ายกันในเรื่อง การสร้างแรงบันดาลใจให้กับครู ส่วนเรื่อง เทคนิค หรือ ความรู้ ทักษะ ต่างๆที่ครูต้องเข้าใจ ตระหนักนั้น เป็นเรื่องรอง ผมเองก็มีความเชื่อมั่นที่คล้ายกันแบบนี้ การทำงานตามวิชาชีพครูเป็นเรื่องอุดมการณ์ และ “ใจ” มากกว่าอื่นใด  หากใจมาทุกอย่างก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผมยังจำคำกัลยาณมิตรท่านหนึ่งบอกผมเสมอๆว่า “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”


เป็นโอกาสที่ดีที่ ภาคการเมือง ซึ่งผมหมายถึง เทศบาลนครขอนแก่น ได้ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาการศึกษา โดยมีกระบวนการหลากหลายรูปแบบ เวทีนี้ก็เป็นหนึ่งของวิธีการพัฒนาครูเช่นกัน (สืบเนื่องมาจากเวทีเครือข่ายการพัฒนาครูสอนดี เวทีแรก) ที่จัดที่ โรงแรมเซนทาร่าขอนแก่น ครั้งนั้นจัดในโรงแรมที่เพิ่งเปิดใหม่ยังไม่ตกแต่งภายในยังไม่แล้วเสร็จ

ผมได้ข้อคิดอีกอย่างว่า บางครั้งเราต้องเดินหน้าไปในขณะที่องค์ประกอบบางอย่างอาจไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ แต่ในอนาคตการพัฒนาจะเข้ารูปเข้ารอยผ่านการเรียนรู้กันและกันเอง ต้องอาศัยเวลาและกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม


ในเวทีเฉพาะกิจครั้งนี้มีการออกแบบการเรียนรู้ที่น่าสนใจ โดย มีการพูดคุยเรื่อง 21st Century Skills ก่อน และมีการบรรยายการปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่อการพัฒนา รวมถึงมี เวทีสุนทรียะเล็กๆ จาก อ.วีระพงศ์ ทวีศักดิ์ วิทยากรที่เป็นศิลปินพิณแก้ว และมีไฮไลต์ที่น่าสนใจ คือ ศิลปะวาดทรายจาก Thailand’s Got talent ของ อ.ก้องเกียรติ กองจันดี ที่เป็นชาวขอนแก่น


ในช่วงบ่ายๆ เป็นช่วงวิชาการ โดย ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มข. ท่านมานำเสนอและชวนเรียนรู้ผลจากโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการ พัฒนาการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนด้วยวิธีการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการเรียนแบบเปิด (Open Approach)  มาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิดซึ่ง เป็นวิธีหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นใช้มากกว่า 50 ปี (ดูรายละเอียดจาก ที่นี่ ) ซึ่งผมมองว่าสอดคล้อง เชื่อมต่อกับกระบวนการช่วงเช้าได้เป็นอย่างดี 1 วันที่ขอนแก่นครั้งนี้ เป็นวันที่มีคุณค่าและทรงพลังอย่างยิ่ง

พื้นที่ของการเรียนรู้ ของครูขอนแก่นในครั้งนี้  จึงถือว่าใช้เวลา 1 วันที่เต็มประสิทธิภาพที่สุด ส่วนประสิทธิผลนั้นอาจต้องมองในระยะยาว แต่เท่าที่เสียงสะท้อนจากการ AAR เร็วๆ ผ่านหลายท่านมีการตอบรับดี คุณครูตื่นตัวและให้ความสนใจอย่างดี

กระบวนการในเวที

ในช่วงเช้า ผมเริ่มด้วย การบรรยาย 21st century Skills ผ่านการย่อยมาแบบง่าย เริ่มต้นจาก สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยน สังคมลูกเลี้ยงเดี่ยว และการผสมพันธ์ทางวัฒนธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงรวดเร็วในโลกยุคโพสต์โมเดินร์น ดังนั้ความเข้าใจตรงนี้หากนักพัฒนา ครู หรือนักการศึกษาอื่นๆที่ทำความเข้าใจปรากกการณ์นี้อย่างเข้าใจก็หมายถึง การเชื่อมต่อความคิดในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้คนในสังคมได้อย่างถูกทิศทาง และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลที่ดี สุดท้ายในการบรรยายยังเปิดงานนำเสนอเป็น Clip สั้นๆ ประเด็น 21st Century Skills เน้นย้ำทางเลือกในการสร้างการเรียนรู้อีกครั้ง ในส่วนของการสะท้อนการคิดเห็นใช้รูปแบบบัตรคำ และตอบคำถามจากโจทย์โดยใช้เวลาสั้นๆ ๒ คำถาม ดังนี้

ข้อที่ 1  ท่านได้เรียนรู้จากการบรรยายและ ชม Clip 21st Century Skills แล้วท่านมีความเข้าใจ หรือ ได้เรียนรู้อะไร?

ข้อที่ 2 ในสถานะและบทบาทของท่าน ท่านคิดว่าจะเชื่อมต่อความรู้ ความเข้าใจนี้ สู่ภาคปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนได้อย่างไร?

คำถาม 2 ข้อ โดยใช้เวลาสั้นๆ ได้ชุดข้อมูลที่เป็นข้อมูลสะท้อนความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว และยังได้ชุดข้อมูลการสังเคราะห์สู่การปฏิบัติอีกด้วย คำถามทั้งสองข้อต่อผู้คน 700 คน จึงเป็นก้อนข้อมูลชุดมหึมาทีเดียว ผมสนใจข้อคิดเห็นต่อความเข้าใจในครั้งนี้ครับ อย่างน้อย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมซึ่งเป็นวิทยากรกระบวนการได้สะท้อนบทบาทตัวเองไปด้วย เห็นวิธีการที่จะสร้างการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต ส่วนการเชื่อมไปยังการทำงานนั้น เป็นข้อคิดเห็นอีกชั้นหนึ่งที่มองเห็นวิธีคิดสู่การปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันได้

หลังจาก session ของผม ก็เป็นการบรรยายของ อ.วีระพงศ์ ทวีศักดิ์ ในหัวข้อ การปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน จนถึงเวลาเที่ยงกว่าๆ เต็มไปด้วยอรรถรสเเละแรงบันดาลใจที่เกิดจากการบรรยายของอาจารย์เป็นอย่างมาก เมื่อครูเข้าใจเนื้อหาความรู้ 21st Century Skills  และเติมด้วยพลังใจ ผ่านการมองอีกมุมของวิธีคิดง่ายๆที่อาจารย์วีระพงศ์ ชวนคุย ทำให้พลังของครูในภาคเช้าพุ่งถึงขีดสุด...

คำถามข้อที่ 1 ท่านได้เรียนรู้และ ชม Clip 21st Century Skills แล้วท่านมีความเข้าใจ หรือ ได้เรียนรู้อะไร? ผลจากการระดมความคิด ได้ข้อมูลดังนี้

ส่วนใหญ่ผู้ตอบจะบอกถึงความเข้าใจ มุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมไปถึง การเข้าใจทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี

กลุ่มที่มองเห็นปัญหาในปัจจุบันผ่านการทำงาน
คือ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเด็กนักเรียนที่เชื่อมโยงจากการเปลี่ยนแปลงของ สภาพสังคม,ปัญหาทางสังคมที่ทวีความรุนแรง,ปัญหาในการบริโภคข้อมูลข่าวสารที่ ท่วมท้นแต่ไม่มีกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูล และการนำไปใช้ “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”

กลุ่มที่มองเห็นวิธีคิดที่สอดคล้องกับการสร้างการเรียนรู้แบบใหม่
หลักใหญ่ใจความหลายๆท่าน เขียนคำว่า Change” คือ ต้อง “เปลี่ยน”  ต้องเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิด เข้าใจความแตกต่าง ความหลากหลายของผู้เรียน สังคมและสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าทัน,การต่อยอดความรู้ให้กับเด็ก,การพัฒนาทักษะครูเอง “ครูต้องเปลี่ยน”การศึกษายุคใหม่เน้นการพัฒนาทักษะมากกว่า ความรู้,Teach less learn more,การเรียนรู้ตลอดปี ตลอดเทอม,นักเรียนต้องมีความสุขในการเรียนรู้,เด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียน รู้,ความกลมกลืนของศตวรรษใหม่และเก่า,การมองไปที่ผลลัพธ์เพื่อการดำรงอยู่ ของเด็กท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลง,เด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยครู เป็นผู้เอื้ออำนวย,การเรียนรู้ตลอดชีวิต, เส้นทางการแสวงหาคำตอบไม่มีเส้นทางเดียว,คำตอบไม่สำคัญเท่ากระบวนการเรียน รู้,การผสมผสานของวัฒนธรรมในโลกยุคใหม่ที่ครูต้องเข้าใจ,จินตนาการสำคัญกว่า ความรู้,การพัฒนาสมอง หรือ Brain-Based Learning


ในมุมมองของครู
  • ครูต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่
  • การเป็นบุคคลเรียนรู้ของครู
  • พัฒนาทักษะในการเป็นครูผู้เอื้ออำนวยกระบวนการเรียนรู้
  • ครูต้องเสียสละและอดทน
  • ใช้ ความรัก ความเมตตา เป็นเครื่องมือ
  • มีระบบการคัดสรรค์ความรู้ สู่การสร้างความรู้
  • ยอมรับปรับตัวและเข้าใจ
  • การทำงานเป็นทีมของครู หรือ PLC นั่นเอง
ในมุมมองของการเชื่อมโยง
  • เน้นบูรณาการ(หลักสูตร/สาระ/เด็ก/ครู)
  • เชื่อมโยงความสนใจกับการออกแบบหลักสูตร กระบวนการ วิธีการ
ในมุมมองของสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้
  • การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้
  • การเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสอย่างแท้จริงให้กับเด็ก
  • สร้างห้องเรียนที่สนุกสนาน ห้องเรียนที่เป็นโลกกว้าง
  • สร้างเครือข่ายครูเพื่อการเรียนรู้ - PLC  ในโรงเรียน
ในมุมมองของการประเมินผล
  • การวัดผลแบบใหม่ที่เน้นดูพัฒนาการและความก้าวหน้า ไม่เน้นการได้ ตก ของเด็กนักเรียน
ในมุมมองของทักษะที่ครูมองเห็น
  • ทักษะการแสวงหาความรู้ (สอนวิธีตกปลา)
  • ทักษะการสร้างความรู้
  • ทักษะชีวิต
  • การสร้างกระบวนการคิด
  • ทักษะเชิงสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกัน
กลุ่มที่มองเห็นเทคนิค วิธีการ เพื่อสร้างการเรียนรู้
ได้แก่ การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่เน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก,การสร้างการเรียนรู้มีหลาหลายวิธีการ,เน้นการปฏิบัติจริง,การเรียนรู้แบบ PBL,การเรียนรู้แบบเป็นกลุ่ม ทีม,การฟังสำคัญต่อการเรียนรู้,หน้าที่เป็นโค้ช หรือ Facilitator สำหรับการเอื้ออำนวยให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่เด็กอยากเรียน ดูความพร้อมของเด็กด้วย,การจัดการความรู้ที่แทรกไปกับกระบวนการต่างๆ,การทำ SWOT Analysis ก่อนสร้างกระบวนการเรียนรู้ เป็นต้น

คำถามข้อที่สองก็น่าสนใจอย่างยิ่งครับ  เป็นคำถามที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ สู่การปฏิบัติ โดยให้ครูนึกถึงบทบาทตัวเอง (ทั้งผู้บริหารและครูผู้สอน) ว่า เราจะเชื่อมไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร
ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจมีดังนี้
  • การทำความเข้าใจสภาพสังคม นโยบาย ผู้เรียน และ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของผู้บริหาร,ครู ตลอดจนผู้ปกครอง
  • ครูต้องเป็นต้นแบบการเรียนรู้,การเปลี่ยนแปลงที่ครู พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง เปิดใจ ลดอัตตา ครูเป็นบุคคลเรียนรู้ (เปลี่ยนแนวคิดที่จะยัดเยียดความรู้,เปลียนแนวปฏิบัติ เทคนิคการสอน,เร่งพัฒนาตนเองเสมอ) มีเวทีการพัฒนาศักยภาพครูอย่างต่อเนื่องและเน้นชุมชนปฏิบัติในการจัดการความรู้
  • ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ เข้าใจความหลากหลายแตกต่างของเด็ก(พิจารณาศักยภาพเด็ก),การเปิดโอกาส สร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง โดยครูเป็น Facilitator หรือ เป็น Coach สร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงการออกแบบการเรียนรู้ ครูเป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งที่ร่วมเรียนรู้ไปด้วย เน้นการปฏิบัติจริง โดยมี PBL เป็นเครื่องมือในการสร้างทักษะแห่งศควรรษที่ 21
  • การสร้างทักษะให้กับผู้เรียนเน้น ทักษะชีวิต ทักษะการเป็นผู้นำ สำนึกพลเมือง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม จัดกิจกรรมที่หลากหลายให้เด็กได้ปฏิบัติ พัฒนากิจกรรมให้เด็กมีสมาธิ    จดจ่อ
  • การให้ความสำคัญต่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
  • การพัฒนา professional learning community (PLC)  หรือชุมชนปฏิบัติของครูในโรงเรียนเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนร่วมกัน การทำงานเป็นทีม สร้างการมีส่วนร่วม

"กระบวนการ PLC ที่ได้เรียนรู้ เป็นการระดมสมองของครูเพื่อนำมาแก้ปัญหาต่างๆ อยากให้ครูทุกคน ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมแก้ปัญหา

บางครั้งเราคิดว่าวิธีการ หรือความคิดของเราดีที่สุด แต่เมื่อเราได้แนวคิดจากเพื่อนๆ สิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดอาจมีสิ่งที่ดีกว่า

เรามาร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนการสอน ร่วมกันเถอะ อย่าอยู่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป เพื่อสร้างโลกใหม่ให้กับศิษย์ของเรา เขาจะได้อยู่ในสังคมแห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีความสุข"
(ครูท่านหนึ่ง -คัดลอกจากบัตรคำ)

  • ในกลุ่มของผู้บริหารก็เป็น คุณเอื้ออีกชั้นหนึ่งที่เอื้อให้ครูเกิด PLC ในโรงเรียน รวมไปถึง การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายในโรงเรียน สนับสนุนอุปกรณ์ สื่อต่างๆ รวมถึงงบประมาณ
  • การประเมินความก้าวหน้า ประเมินตามศักยภาพของเด็กประเมินรอบด้าน  ไม่เน้นการสอบได้หรือตก

ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่สังเคราะห์จากบัตรคำ 700+ แผ่น ที่ระดมความคิดแบบเร็วๆที่เราพอที่จะเห็นถึงความเข้าใจและการเชื่อมแนวคิดไปสู่การปฏิบัติได้ชัดเจนมากขึ้น

โดยส่วนตัวผมในฐานะวิทยากร เห็นว่า การขับเคลื่อนการพัฒนา 21st Century Skills นั้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน รวมถึงมีปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องมากมาย ส่วนในทางปฏิบัตินั้นคงต้องศึกษา วิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป


เวทีที่ขอนแก่นในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่ครูได้เรียนรู้ร่วมกันภายใต้บรรยากาศของความสุข จากเสียงดนตรี จาก อ.วีระพงษ์ ทวีศักดิ์ นักดนตรีพิญแก้ว ชื่อดัง และศิลปะผ่านการวาดทราย จาก อ.ก้องเกียรติ กองจันดี ศิลปินเลือดเนื้อชาวขอนแก่น เป็นครั้งแรกที่มีการบรรเลงดนตรีไปพร้อมๆกับการวาดทราย สร้างความประทับใจให้ผู้มาร่วมเวทีในครั้งนี้อย่างมาก...

วาระพิเศษครั้งนี้ผมเชื่อว่าเกิดพลังอย่างยิ่งโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวิธีคิดบางอย่าง มองเป้าหมายร่วมกันชัดเจนมากขึ้น ถือว่าเป็นก้าวย่างที่น่าจดจำไว้สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่เมืองขอนแก่นต่อไป


 จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
11/09/2555

ไม่มีความคิดเห็น: