วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สุนทรียสนทนากับผู้มาใหม่ (New comer)


จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร


ผม : เวลาส่วนหนึ่งใช้ไปกับการเดินทาง การเรียนรู้ผู้คนในมิติต่างๆผ่านการงาน ทำให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายที่ทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้ง การเดินทางนอกจากทำให้เปิดตาให้กว้าง ยังทำให้เห็นสิ่งที่เคยมองเห็น สิ่งที่คุ้นชินทุกวี่วัน เห็นสิ่งนั้นในมุมที่หลากหลายมากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญมากสำหรับการเติบโตทางปัญญาของเรา คือ  “การสนทนา”  หากว่าการสนทนานั้นเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศของการสนทนาเพื่อการพัฒนาทางปัญญาที่แท้จริง การสนทนาที่เป็นไปด้วยแรงอยากรู้ อยากเห็นอย่างจริงใจ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่ทรงพลัง สกัดเป็นมวลของความรู้ที่มีพลังไปด้วยเช่นกัน
เพราะ “การสนทนาเป็นวิถีที่สำคัญของมนุษย์”  ทุกขณะนาที เป็นข่าวสาส์นจากด้านใน และการส่งผลข่าวสาส์นเหล่านั้นไปยังผู้อื่น จำเป็นต้องอาศัยการฟังในระดับที่ลึกซึ้งใคร่ครวญ ไม่ใช้เฉพาะอาศัยทักษะในการฟังครบถ้วนเท่านั้นแต่ความสุขด้านในและใจที่เปิดกว้างจึงรับเรื่องราวเข้ามาไหลหลั่งเหมือนสายธาร เมื่อผสมกับความคิดและประสบการณ์เดิม เกิดการผสมเกสรทางด้านความคิด ถือว่าเป็นพลวัตของความรู้จากสุนทรียสนทนาที่ค่อยๆเติบใหญ่
เวทีสุนทรียสนทนาสำหรับนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ ปี ๑ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาและเธอเป็นผู้มาใหม่ (new comer) ที่อาจใหม่ทั้งโลกของชีวิตนอกบ้านที่ต้องมาอยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกของการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ เพื่อนใหม่ ทั้งท้าทายและใช้พลังอย่างยิ่งในการทำให้ชีวิตเกิดความสมดุลในระยะเวลาอันสั้น
เวทีสุนทรียสนทนาเป็นเวทีส่วนหนึ่งของการรับน้องของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจัดเวลาไว้ช่วงเย็นจนถึงดึก ช่วงเวลากรุ่นด้วยบรรยากาศของการรับน้อง ...บรรยากาศของเฟรชชี่ พี่และน้อง ยังเข้มข้น
บริบทที่ยังดูสับสนอลม่านของชีวิตของนักศึกษา ทำเวทีสุนทรียสนทนากว่าจะทำให้น้องนักศึกษาหลุดจากบรรยากาศเหล่านั้นได้เป็นเรื่องยากมากขึ้น  แต่เราก็ยังดำเนินต่อไปเพื่อเตรียมพร้อมการเปิดเข้าพื้นที่ในการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ที่จะเป็นต้นทุนสำหรับอีก ๖ ปีที่เขาต้องอยู่ในมหาวิทยาลัยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ความหลากหลาย และสิ่งแวดล้อมที่รายล้อมเขา ยังมีอุดมการณ์งดงามของสถาบัน ของคณะที่หล่อหลอมพวกเขาอีก ต้นทุนชีวิตผ่านการเตรียมเรียนรู้จึงสำคัญนับจากวันนี้ไป
มณฑลชีวิตและกิจกรรมเติมเต็มชีวิตตนเองและเติมเต็มซึ่งกันและกัน(Satir’s Mandala : The Component of Happiness) โดยอาจารย์ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ เป็นกิจกรรมแรกที่ถูกเปิดไว้อย่างสวยงามผ่านการค้นหาและเติมเต็มตัวเอง ทำให้ Becoming more fully human, แม้เป็นการเช็คหรือสำรวจตัวเองแต่จำเป็นอย่างยิ่งที่เป็นโอกาสทำให้เราช้าลง ด้วยการมองกลับเข้าไปยังภายใน
ช่วงต่อมาเป็นการทำเวทีสุนทรียสนทนา โดยผมทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ เริ่มต้นด้วยการพักผ่อนกายและจิตใจ น้องๆนักศึกษาที่เหนื่อยมาทั้งวันกับกิจกรรมการรับน้อง จึงดูอ่อนระโหยอย่างเห็นได้ชัด เวทีสุนทรียสนทนาที่ทำกับกลุ่ม ๑๐๐ กว่าชีวิต เป็นความท้าทายของวิทยากรกระบวนการเป็นอย่างยิ่ง การพูดคุย การฟังของค่ำคืนนี้จึงเหมือนการเริ่มต้นให้มองเห็นความพิเศษของการสนทนาที่ประกอบไปด้วยการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นฐาน ผมไม่สามารถนำพากลุ่มเข้าไปถึงการสนทนาที่ลึกซึ้งได้มากนักด้วยข้อจำกัดหลายเรื่อง แต่เรื่องราวที่หลายคนได้เล่าเรื่องในวงสุนทรียสนทนาในวันนั้น จับใจและประทับใจอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่วิทยากรอาจารย์เท่านั้นที่รู้สึกอิ่มเอิบ น้องนักศึกษาก็ได้เรียนรู้พลังของการสนทนาแม้เพียงระยะเวลาสั้นๆเพียงแค่นั้น...
ก่อนปิดท้ายเวทีสุนทรียสนทนา ครูเก๋ ณ หทัย ครูสอนร้องเพลงและการแสดง มาชวนทำกระบวนการ Drama therapy เป็นการประยุกต์ศาสตร์ของการแสดงมาเป็นการแสดงบทบาทสมมุติ มีนัยยะของการใช้ชิวตท่ามกลางความหลากหลาย เปลี่ยนแปลง ละครใบ้ ไม่ต่างอะไรกับชีวิตจริง
ในช่วงเวลา ๔ ชั่วโมงจากเย็นย่ำสู่ค่ำคืนที่ธรรมศาสตร์ เป็นไปด้วยแรงขับเคลื่อนของความตั้งใจดีของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยแท้ แม้ว่าบางกิจกรรมอาจเดินไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็เกิดเรื่องราวดีๆมากมาย และที่สำคัญหลายๆคนสะท้อนความประทับใจออกมาให้รับฟัง
ต่อมาได้รับการติดต่อจาก ดร.มัทนา อีกครั้งมาชวนทำ เวทีสุนทรียสนทนาให้กับนักศึกษาอีกครั้ง คราวนี้ มีกลุ่มเป้าหมายลดจำนวนลงมาเป็น ๕๐ คน คิดว่ายังพอรับไหวกับกระบวนการเนิ่นช้าเช่น สุนทรียสนทนา แต่การสร้างบทเรียนเพื่อวางเส้นทางไปสู่การสนทนานั้นก็เป็นเรื่องที่สร้างความหนักใจไม่น้อย
ผมเลือกเพลงหลายเพลงที่อยู่ในใจ เลือกคลิปบางคลิปที่คิดว่า น่าจะเป็นประเด็นเรียนรู้ที่ท้าทายในการสนทนา อย่างน้อยประเด็นที่ผุดขึ้นมาเร็วๆจากการพัดของอารมณ์หลังจากดูคลิป น่าจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้เขาได้มีทางเข้าสู่การสนทนาที่ลึกซึ้ง และ “ไม่ตัดสิน”
บรรยากาศโดยรวมของสถานที่ที่มีปัจจัยไม่สามารถควบคุมได้ ก็ดูเหมือนเป็นอุปสรรคตอนแรกเริ่ม แต่สุดท้ายเนื้อหาของหมุดหมายการเดินทางของวงสุนทรียสนทนาก็ทำให้ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดเหล่านั้นคลายตัวลง
ดร.มัทนา ได้เล่าเรื่อง “สุนทรียสนทนา” ปูพื้นได้อย่างเข้าใจ ก่อนที่จะเปิดเวทีเรียนรู้จากนั้นเราก็เริ่มกระบวนการเรียนรู้ยกที่ ๑
เริ่มจากการอยู่กับตัวเอง ผ่านกิจกรรมเข้าเงียบ (Check in) เตรียมความพร้อม และการเปิดเวทีพูดคุยประสบการณ์ผ่านคู่สนทนาที่จับคู่เองในกลุ่มนักศึกษาทั้งหมดขอเป็นคนที่สนิทน้อยที่สุด ทั้งคู่ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง สลับกันกับคู่ของตนเอง จากนั้นมาแบ่งปันเรื่องราวถอดบทเรียนว่า ในฐานะผู้ฟังและผู้พูด เรามีความรู้สึกอย่างไร?  บทเรียนจากปากของผู้ฟัง ทำให้เราตระหนักมากขึ้นสำหรับการให้กำลังใจคนพูด ความอดทนที่จะฟัง จนกระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นความน่าสนใจเมื่อเรายังฟังอยู่ต่อเนื่อง ในที่สุดการฟังอย่างตั้งใจของผู้ฟัง ทำให้ผู้พูดมีพลังในการพูดมากขึ้น ร้อยเรียงเรื่องราวดีๆผ่านการพูดอย่างมีคุณภาพ...บทเรียนเล็กๆ ทำให้พวกเขารู้ว่า “การฟัง” นั้นสำคัญแค่ไหน!!
เสียงเพลงที่ถูกบรรเลงแทรกระหว่างบทเรียนด้วยเพลง Have I told you lately (That I love You) ที่ผมเลือกเพลงนี้เพราะชื่นชอบในความหมายของบทเพลงนี้ บวกกับเสียงเปียโนที่อ่อนหวาน เพลงเก่าเพลงนี้ถูกขับร้องโดยนักร้องหลายๆคน แต่ version ของ Do ก็ไพเราะด้วยเสียงดนตรี และเสียงร้องที่มีพลัง
Have I Told You Lately that I love you? 
ผมได้บอกคุณหรือยังว่าว่าผมรักคุณ

Have I told you there's no one else above you?
ผมได้บอกคุณหรือยังว่าไม่มีสิ่งใดเหนือกว่าคุณในใจผม

Fill my heart with gladness; take away all my sadness 
เติมความสุขสู่ภายในใจผม นำพาความเศร้าไปจากใจ

Ease my troubles, that's what you do.
บรรเทาปัญหาต่างๆ นั้นคือสิ่งที่คุณได้ทำให้ผม

For the morning sun in all it's glory, 
ชื่นชมความงดงามของเเสงอาทิตย์ยามเช้าอย่างอิ่มเอม

Meets the day with hope and comfort too, 
เผชิญกับวันอย่างเปี่ยมไปด้วยความหวังเเละความสบายใจ

เสียงเพลงไพเราะและเสียงเปียโนซาบซึ้งไปนาน พร้อมความหมายดีๆ
นักศึกษาทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย เหลือกลุ่มละ ๕ คน ฝึกการทำวงสุนทรียสนทนา บทบาทผู้พูดและผู้ฟังตามการบริหารจัดการของกลุ่ม ผมได้เปิดคลิปขนาดสั้นประมาณ ๑๐ นาที เป็นเรื่องราวของประเด็นร่วมสมัยที่มีความชัดเจน คลุมเครือ ขัดแย้ง ในคลิปมากมาย และที่สำคัญค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการตัดสิน( judgment)ของผู้ชมเป็นอย่างมากด้วยการยั่วยุอารมณ์
ประเด็นนี้เองเป็นหัวข้อในการสนทนา บทเรียนจากการใช้เนื้อหาที่ดูเข้มข้นด้วยอารมณ์ขนาดนี้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์สุนทรียสนทนาจริงๆ และ บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนที่ดูเหมือนการdiscussion
ผมมองว่า ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่สามารถสะท้อนให้นักศึกษาได้เห็นถึงการสนทนาแบบสุนทรียสนทนากับการสนทนาโดยทั่วไปที่ไม่ค่อยฟังซึ่งกันและกัน และสิ่งหนึ่งที่พบเห็นจากที่ตัวแทนนักศึกษาออกมาเล่าให้ฟังคือ การตัดสิน( judgment)  โดยที่เราเองก็ไม่พยายามห้อยแขวนคำพิพากษาเหล่านั้นเอาไว้ ซึ่งก็เป็นบทเรียนสำคัญในการสะท้อนกลับไปยังกลุ่มนักศึกษาในการสรุปเวทีในวันนั้น
บทสรุปของเวทีจากทีมวิทยากรที่มาพร้อมกับผม ได้แก่คุณบุ๋ม กษิดิศวร์ ทองสมุย ,คุณเก๋ ณ หทัย บัวแย้ม รวมไปถึง คณาจารย์ที่ประกอบไปด้วย อ.ทพ.ดร.ปิยะ ศิริพันธุ์,ทพ.ญ.ดร.มัทนา เกษตระทัศ,ทพ.ดร.สุธี สุขสุเดช ล้วนแล้วแต่เป็นบทสะท้อนที่มีคุณค่าและเติมเต็มกระบวนการวันนั้นอย่างแท้จริง



ทีมงานสุนทรียสนทนาเเละมณฑลชีวิต
                    
 ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ เเละ ผมคุณ ณ หทัย บัวเเย้มคุณกษิดิศวร์ ทองสมุย
ขอบคุณคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณาจารย์ตลอดจนนักศึกษาทุกท่านครับ
ขอบคุณทีมงานของผม คุณบุ๋มและคุณเก๋ ที่ให้กำลังใจกันและกันตลอดเวลา

ไม่มีความคิดเห็น: