วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พลังของวงสนทนาที่ดีเเละกระบวนการถอดบทเรียน


นั่งคิดคนเดียวว่า เวลาไปถอดบทเรียนแล้วตั้งคำถามเป็นการเป็นงาน เรียงลำดับขั้นตอนอย่างดี กลับได้ข้อมูลไม่ดีเท่านั่งคุยกันไปเรื่อยๆ หรือถามแค่ว่า "เป็นไงบ้างงานนี้" พูดกันได้พรั่งพรูมาก ลื่นไหลกันดี พยายามทบทวนว่ากระบวนการหรือคำถามเราเป็นปัญหาไหม ?
เอ๊ะ!!!  หรือว่านี่เป็นธรรมชาติของนักปฏิบัติที่ไม่ต้องการเรียบเรียง ทำทุกอย่างที่ขวางหน้า ทำงานอย่างเพลิดเพลิน ไม่ต้องการการจัดระบบอะไรทั้งนั้น
นี่ใช่สาเหตุของการที่เวลาถูกถามว่า "ทำอะไรอยู่" หรือ "ทำไปถึงไหนแล้ว บรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรือยัง ทำถึงขั้นไหนแล้ว"แล้วก็จะได้รับคำตอบเป็นสายตาใส ๆ หน้างงๆ
กำลังนึกต่อไปว่าทำไมบทเรียน/ข้อมูลที่ได้ต้องอาศัยวิทยากรกระบวนการที่เก่งกาจเท่านั้นหรือ? แล้วคนที่เป็นนักปฏิบัติเองทำไมไม่สามารถ (หรือน้อยมาก)เข้าถึงองค์ความรู้และบทเรียนตนเองได้เล่า?
ผมหมายถึง การดึงออกมาถ่ายทอดสู่คนอื่นได้ด้วยตัวเองเลย  



ข้อความข้างตนเป็นข้อความการนำเสนอความคิด หรือ ผมอาจได้ว่าเป็นการถอดบทเรียนแบบ  “ปิ้งแว้บ” โดยตั้งคำถามว่า “ทำไม”และ “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น”

และความคิดเหล่านั้น ทำให้ผมคิดต่อ ว่า เราทำเวทีถอดบทเรียน ทำไปเพื่ออะไร? และ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้(Facilitators) ในวงเรียนรู้และถอดบทเรียน?
Large_img_2652
ในหนังสือ “Turning to One Another” *  โดย Magaret J.Whealey  เธอได้เขียนถึงการสนทนาว่า “การสนทนาที่ดีเชื่อมโยงเราในระดับที่ลึกกว่า เมื่อเราแบ่งปันประสบการณ์ เราได้ค้นพบอีกครั้งซึ่งความรู้สึกของความเป็นหนึ่งเดียว เราระลึกได้ว่าเราเป็นหนึ่งกับส่วนทั้งหมดที่ยิ่งใหญ่กว่า และด้วยปีติสุขที่สมทบเข้ามา เรายังได้ค้นพบปัญญาร่วมหรือสมุหปัญญาของเราทั้งผอง แล้วในฉับพลันนั้นเราก็ได้ประสบว่าเราฉลาดขึ้นอย่างไรเมื่อเราได้อยู่ด้วยกัน”

ทั้งหมดเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราต้องมานั่งสนทนากันและการสนทนาที่ดีสุดยอดในความคิดของผมนั้น ก็คือ การสนทนาที่ผู้สนทนาต่างยอมรับกันและกันอย่างเท่าเทียม รวมไปถึง สนใจใคร่รู้ในเรื่องราวของกันและกัน โดยทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดีไปด้วย แต่ในความเป็นจริง การสนทนาที่ต้องอาศัยการฟังอย่างลึกซึ้ง บรรยากาศการพูดคุยที่มีความเท่าเทียมอาจจะต้องพึ่งพาคนกลางที่ทำหน้าที่ประคับประคองบรรยากาศนั้น ผมหมายถึง ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้(Facilitators) ซึ่งในที่นี่ผมรวมความถึงผู้ทำหน้าที่ถอดบทเรียนในเวทีด้วย

การถอดบทเรียน อาจต้องการผลลัพธ์คือ “บทเรียน” นอกจากบทเรียนที่แทรกซึมอย่างเป็นธรรมชาติในวงเรียนรู้แล้ว บทเรียนเหล่านั้นอาจจำเป็นต้อง “คว้าและจับประเด็น” สังเคราะห์สู่บทเรียนเพื่อเป็นองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาต่อ ตรงนี้เองที่ผมคิดว่าเวทีถอดบทเรียนจำเป็นต้องมี Facilitators
การตั้งคำถามของ Facilitators นั้น จำเป็นไหมที่จะต้องตั้งคำถามตามโครงสร้างคำถาม(ที่เตรียมมา หรือ เรียบเรียงในใจ)ผมมองว่าการถามตามโครงสร้างคำถาม เป็นตัดตอนบรรยากาศของการเรียนรู้ให้อึดอัดอย่างที่ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ไม่รู้ตัว  ผมตระหนักเสมอว่าคำถามนั้นสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่เราต้องการก็จริงอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคำถามก็คือ “กระบวนการถาม”ว่าควรจะถามอย่างไร? เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมกระบวนการเรียนรู้ รู้สึกว่าถูกถาม(เหมือนสัมภาษณ์) การตั้งคำถามแล้วนิ่งรอฟังคำตอบในวงสนทนา ของผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ อาจทำให้เกิดบรรยากาศของความตึงเครียด ในที่สุดคำถามนั้นอาจไม่ได้คำตอบอย่างที่ควรจะเป็น หรือคำตอบจริงๆของผู้ปฏิบัติ เพราะความตึงเครียดของบรรยากาศภายใต้การจู่โจมของคำถามนั้นเอง...

ส่วนบทบาทการทำหน้าที่ผู้ถอดบทเรียนการ “จับประเด็น” ก็สำคัญ  ในบันทึกก่อนผมเขียนถึงการจับประเด็นของ Facilitators ว่า“ไม่ตั้งใจแต่ได้ผล” ก็คือ “การมุ่งการจับประเด็นมากเกินไปทำให้เราพลาดอะไรบางอย่างเพราะเรื่องราวที่ปรากฏไม่ใช่เรื่องของประเด็นเท่านั้น และการจับประเด็นที่ดีคือ การไม่มุ่งมั่นที่จะจับประเด็น แต่เป็นการเปิดออกให้ประเด็นปรากฏขึ้นมาเอง”  (จากหนังสือ “สุนทรียสนทนา” โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู)

ในที่สุด “วงสนทนาที่ดี” จะช่วยก่อรูปของพลังความรู้ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในทั้ง ผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ รวมไปถึงผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้(Facilitators) แน่นอนว่าคนที่เป็นนักปฏิบัติเองสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และบทเรียนตนเอง ผ่านการเล่าเรื่องที่ลุ่มลึกถึงระดับปัญญาปฏิบัติจะถูกคลี่ออกมาผ่านการสนทนาที่เป็นธรรมชาติ




หันหน้าเข้าหากัน,บุลยา แปล,สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา,๒๕๔๙ อ้างอิงใน  “สุนทรียสนทนา” โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู

ไม่มีความคิดเห็น: